กิจกรรมการแข่งขัน Huawei ICT Competition ครั้งแรกเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด Connection - Glory - Future โดยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมประชันความสามารถด้านไอซีทีกว่า 2,000 คน อนึ่ง โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีความรู้ความเข้าใจ และสนใจด้านเทคโนโลยีไอซีทีมากขึ้น รวมถึงช่วยบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถสูงในด้านไอซีที เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เยาวชนที่ทำคะแนนได้สูงสุด 200 คนแรกที่ผ่านเข้าสู่รอบ 2 ได้เข้าร่วมค่ายกิจกรรม Huawei Camp Thailand Competition เพื่อเข้ารับการอบรมฝึกฝนอย่างเข้มข้นและทำการทดสอบหลักสูตรประกาศนียบัตร Huawei Certified ICT Associate – Routing and Switching (HCIA-R&S) พร้อมเรียนรู้เทคโนโลยีไอซีทีล่าสุด นอกจากนี้ น้องๆ ยังได้รับโอกาสนำทักษะที่ได้เรียนรู้จากการฝึกอบรมมาใช้ในการออกแบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ต่างๆ อีกด้วย
ผู้ชนะการแข่งขัน 3 อันดับแรกจะทำหน้าที่เป็นทีมตัวแทนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศระดับโลก ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองเซิ่นเจิ้น ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 25-26 พฤษภาคมนี้ ท่ามกลางทีมเยาวชนจากกว่า 30 ประเทศทั่วโลกที่จะมาชิงชัยกันเพื่อคว้ารางวัลสูงสุด และเพื่อเป็นการเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ทีมเยาวชนไทยจะเข้ารับการฝึกอบรมและติวเข้ม ณ ศูนย์ฝึกอบรมของหัวเว่ยที่กรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาทักษะด้านไอซีทีและเพิ่มโอกาสในการคว้าชัยชนะให้กับประเทศไทย
"การที่มีนักศึกษากว่า 2,000 คนจากทั่วประเทศไทยให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันครั้งนี้ตั้งแต่รอบแรก ทำให้เห็นได้ว่าเยาวชนไทยมีความสนใจในด้านโครงสร้างพื้นฐานไอซีที โดยเฉพาะในด้านเน็ตเวิร์ค ซึ่งนับเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะการที่ประเทศชาติจะมีศักยภาพด้านการแข่งขันทัดเทียมประเทศอื่นได้นั้น เราจะต้องบ่มเพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้กลายเป็นบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีทีที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันผลักดันการพัฒนาประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล" ดร. พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในระหว่างพิธีมอบรางวัล
มร. โทมัส โจว ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้พูดถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีซึ่งเป็นหัวใจของธุรกิจของหัวเว่ยว่า "โครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีนั้นมีความสำคัญพอๆ กับระบบไฟฟ้าและน้ำ บุคลากรด้านไอซีทีก็มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสร้างประเทศไทยให้มีความเป็นอัจฉริยะ เราจะประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ในการพัฒนากำลังคนด้านไอซีทีต่อไปในอนาคต ผมขอให้พวกคุณยึดถือความเป็นทีมเวิร์ค มุ่งมั่นและทุ่มเท เพื่อสร้างความสำเร็จและชื่อเสียงให้กับประเทศไทยต่อไป"
ในฐานะบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม หัวเว่ยได้เปิดตัวแผนส่งเสริมนักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Developer Enablement Program) สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และวางแผนที่จะทุ่มงบลงทุนมูลค่า 81 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีกสามปีข้างหน้า และในปี 2018 หัวเว่ย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้สร้างเยาวชนด้านไอซีทีไปแล้วกว่า 8,000 คน ผ่านโครงการต่างๆ ของเรา อาทิ ศูนย์โอเพ่นแล็บ, การฝึกอบรมด้านไอซีที, การมอบทุนการศึกษา, การจัดกิจกรรมการแข่งขัน ตลอดจนโครงการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต "Seeds for the Future"
นางสาว ภูริน ติ๊บแก้ว ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ กล่าวว่า "เหมือนความฝันที่เป็นจริงสำหรับเราทุกคนค่ะ การแข่งขันครั้งนี้เปิดโอกาสให้เราได้พบโอกาสความเป็นไปได้ที่ไร้ขีดจำกัดจากโลกของไอซีที และมันช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้เป็นอย่างมาก ดิฉันจะตั้งใจแข่งขันที่เมืองเซิ่นเจิ้นอย่างดีที่สุดร่วมกับณัฐพร พรสวัสดิ์ และกัณฐ์ เตโชสกลดี การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับโลกจะเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นท้าทายสำหรับเรา และเราเฝ้ารอที่จะได้พบปะเพื่อนใหม่ๆ จากหลายประเทศทั่วโลกที่จะมาร่วมแข่งขันครั้งนี้ ดิฉันคิดว่าเราโชคดีมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันครั้งสำคัญนี้"
ผู้ชนะเลิศประเทศไทย 3 อันดับแรกจะได้รับโล่รางวัล สมาร์ทโฟนหัวเว่ย และรางวัลอื่นๆ นอกจากนี้ ผู้ทำคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกยังจะได้รับโอกาสฝึกงานหรือเข้าร่วมงานกับหัวเว่ย พร้อมเยี่ยมชมสำนักงานและศูนย์โอเพ่น แล็บของหัวเว่ยในประเทศไทยด้วย สำหรับการเดินทางไปร่วมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศที่เมืองเซิ่นเจิ้น ประเทศจีน ในเดือนพฤษภาคมนี้ ผู้ชนะทั้งสามคนจะได้เยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของหัวเว่ย รวมทั้งศึกษาดูงานและเปิดมุมมองความรู้ด้านเทคโนโลยีไอซีที เทรนด์อุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์ไอซีทีล่าสุดกับเหล่าผู้เชี่ยวชาญไอซีทีชั้นนำของโลกอีกด้วย
เกี่ยวกับหัวเว่ย
หัวเว่ย ผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสมาร์ทดีไวซ์ ด้วยโซลูชั่นที่ผสมผสานในสี่กลุ่มหลัก คือ เครือข่ายโทรคมนาคม, ไอที, สมาร์ทดีไวซ์ และบริการคลาวด์ บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่การใช้งานทุกระดับเพื่อทุกผู้คน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อขับเคลื่อนโลกอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ ผลิตภัณฑ์ โซลูชั่นและบริการที่ครบวงจรของหัวเว่ยเปี่ยมด้วยศักยภาพด้านการแข่งขันและเชื่อถือได้ จากการทำงานร่วมกับพันธมิตรในระบบนิเวศแบบเปิด หัวเว่ยสามารถสร้างมูลค่าระยะยาวให้กับลูกค้า เสริมสมรรถนะของผู้คน ช่วยให้การใช้ชีวิตที่บ้านมีความสะดวกสบาย และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดนวัตกรรมในองค์กรทุกรูปแบบและทุกขนาด นวัตกรรมของหัวเว่ยเน้นตอบสนองตามความต้องการของลูกค้า เราทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลในด้านการวิจัย เน้นค้นหานวัตกรรมด้านเทคนิคใหม่ ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนโลกของเราให้ก้าวไปข้างหน้า เรามีพนักงานกว่า 180,000 คน ดำเนินธุรกิจในกว่า 170 ประเทศทั่วโลก หัวเว่ยก่อตั้งขึ้นในปี 2530 และเป็นบริษัทเอกชนที่มีพนักงานเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด