ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาทิศทางการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ รองรับธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ ประจำปี 2562 ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) บูรณาการความร่วมมือกับ ภาครัฐ เอกชน และสถานศึกษา จัดขึ้นเพื่อยกระดับและทักษะแรงงานในระบบโลจิสติกส์ ตามนโยบาย 3A ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ รองรับ 10 อุตสาหกรรมหลัก ช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมทั้งทำพิธีการมอบวุฒิบัตรให้ผู้ผ่านการฝึกอบรม 205 คน และส่งมอบให้แก่ผู้ประกอบการต่อไป พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการและบูธแสดงผลงานของเครือข่ายผู้ประกอบกิจการด้านโลจิสติกส์และผู้ประกอบการSME ขนาดกลางและขนาดย่อมด้วย
โดย พล.ต.อ.อดุลย์ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ถือเป็นรากฐานสำคัญ ของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นกลไกที่ส่งผ่านมูลค่าของสินค้าและบริการจากผู้ผลิตไปยังผู้รับหรือผู้บริโภค ดังนั้น ระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ การพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องอาศัยกลไกเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนตามแนวทาง "ประชารัฐ" โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีให้มีงานทำและมีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศกว่า 2,700 ราย ครอบคลุมการจ้างงานไม่น้อยกว่า 250,000 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า314,000 ล้านบาทต่อปี รองรับอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ EEC และโครงการเมกะโปรเจ็คของรัฐบาล
ด้านนายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการลดลงของผลิตภาพแรงงาน และกำลังแรงงาน การขาดแคลนแรงงาน ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2561 – 2564) ที่มุ่งเน้นให้กำลังแรงงานมีศักยภาพเพียงพอต่อการส่งเสริม และสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพื่อแก้ปัญหาการว่างงานในกลุ่มนักศึกษากว่า 170,000 คน ซึ่งกพร.ได้ร่วมกับสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) แก้ปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด โดยดำเนินการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อป้อนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้ผ่านการฝึกอบรมจะมีงานรองรับ มีรายได้เฉลี่ย 18,150 บาท / คน / เดือน และวางแผนระยะยาว 5 ปี (2563-2567) พัฒนาแรงงาน 2,500 คนป้อนธุรกิจรับส่งสินค้าระหว่างประเทศ ผลจากการสัมมนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาจะได้ความรู้ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน โลจิสติกส์ แนวโน้มและทิศทางการพัฒนาบุคลากรในอนาคต เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ และร่วมเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินธุรกิจ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การทำธุรกิจในอนาคตอีกด้วย.