ผศ.วุฒิศักดิ์ อธิการบดี ม.ร. กล่าวว่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง มีหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอน และสนับสนุนงานด้านการศึกษาและเทคโนโลยี เล็งเห็นความสำคัญของการแข่งขันหุ่นยนต์ฯ ซึ่งมีประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา นำความรู้จากภาคทฤษฎีมาสู่ภาคปฏิบัติ และได้ส่งหุ่นยนต์เข้าร่วมแข่งขันเป็นประจำทุกปี ภายใต้ "โครงการการพัฒนาหุ่นยนต์และโปรแกรมอัตโนมัติเพื่อการแข่งขัน" สอดคล้องกับนโยบายของชาติและมหาวิทยาลัยที่จะมุ่งก้าวสู่รามคำแหงยุค 4.0
ทั้งนี้ ปี 2555 ทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายในรอบชิงชนะเลิศ ปี 2556 ได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยมภายใต้ธีมการแข่งขัน "หุ่นยนต์รักษ์โลก" และปี 2559 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ภายใต้ธีมการแข่งขัน "พลังงานบริสุทธิ์ จุดประกายโลก"
"การแข่งขันหุ่นยนต์ฯครั้งนี้ มหาวิทยาลัยรามคำแหงก้าวเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น นอกจากส่งทีมนักศึกษาร่วมแข่งขันแล้ว ยังได้เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการแข่งขันด้วย เพื่อพัฒนาสถาบันไปสู่ยุคนวัตกรรมสมัยใหม่ ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ และเพื่อให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นที่ยอมรับในด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี"
ด้าน นางพัชรินทร์ ลีฬกาญจนากุล กล่าวว่า ส.ส.ท.ดำเนินการแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 26 แล้ว เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีการสร้างหุ่นยนต์ เรียนรู้วิวัฒนาการสมัยใหม่ การออกแบบ และการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยี ซึ่งจะนำไปสู่พัฒนาการด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น ภายใต้ธีม "ขี่ม้าส่งสาร สะท้านขุนเขา" โดยมีนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาที่เข้ารอบแข่งขันจำนวน 40 ทีม ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ 8 ทีมสุดท้ายของการแข่งขันครั้งนี้ จะไปแข่งขันระดับประเทศกับสถาบันอาชีวศึกษา เพื่อเฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยในการเข้าแข่งขันระดับนานาชาติ ที่ประเทศมองโกเลีย
สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์ รอบคัดเลือกครั้งนี้ จัดขึ้นในวันที่ 27-28 เมษายน 2562 ณ ห้องประชุม 322 ชั้น 3 อาคารสุโขทัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง ขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ ร่วมชมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับอุดมศึกษารอบคัดเลือก โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานเพื่อรับเกียรติบัตรสำหรับยื่นแฟ้มสะสมผลงานในระบบ TCAS ได้ด้วย