นายสัตวแพย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ได้สนองนโยบายรัฐบาล ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล (พ.ศ. 2559 – 2563) ต่อยอดโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้านปศุสัตว์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อมุ่งหวังในการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ให้ถูกสุขลักษณะควบคู่ไปกับมาตรฐานฮาลาล โดยมีเป้าหมายให้ทุกจังหวัดมีเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย และถูกหลักการศาสนาอิสลามวางจำหน่าย เป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับภัตคาร และร้านอาหารในการปรุงอาหารฮาลาลในพื้นที่ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการบริโภคอาหารฮาลาลทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนมีจำนวนมุสลิมที่ต้องบริโภคอาหารฮาลาลกว่า 300 ล้านคน จากกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
นายสัตวแพย์สรวิศ กล่าวว่า "กรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานกำกับดูแลเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำที่สำคัญในการผลิตอาหารฮาลาล กรมปศุสัตว์จึงได้จัดตั้ง "กลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้านปศุสัตว์ สังกัดสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์" ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 โดยมีภารกิจสำคัญคือการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ของประเทศไทยสู่มาตรฐานฮาลาล และยกระดับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ฮาลาลไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยหัวใจสำคัญในการบรรลุความสำเร็จจำเป็นต้องบูรณการการทำงานทั้ง 3 ภาคส่วน คือ หน่วยงานรัฐ (กรมปศุสัตว์) องค์กรฮาลาล (สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย) และผู้ประกอบการ"
นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินงานด้านปศุสัตว์ฮาลาลภายใต้โครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้านปศุสัตว์ ตั้งแต่ปี 2556 – 2561 โดยดำเนินการทั้งหมด 5 ด้าน คือ
1. การสร้างความเข้าใจในมาตรฐานฮาลาลต่อเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจประเมินกว่า 300 คน พนักงานเชือดสัตว์กว่า 800 คน และอบรมผู้ประกอบการกว่า 1,000 คน
2. ตรวจประเมินสถานประกอบการด้านปศุสัตว์ฮาลาลปีละ 250 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีสถานประกอบการด้านปศุสัตว์ที่ได้รับรองมาตรฐานฮาลาลแล้ว 360 แห่ง ได้แก่ โรงฆ่าสัตว์เพื่อการส่งออก 30 แห่ง โรงฆ่าสัตว์ภายในประเทศ 129 แห่ง และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ 201 แห่ง
3. การสุ่มเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนดีเอ็นเอสุกรในสินค้าปศุสัตว์ฮาลาลกว่า 4,800 ตัวอย่างทั่วประเทศ
4. การอบรมพัฒนาการทำงานระหว่างนายสัตวแพทย์ประจำโรงงานของกรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการเชือดและที่ปรึกษาโรงเชือดสัตว์ของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กว่า 200 คน
5. เจรจาขยายตลาดและแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ฮาลาลไปยังกับต่างประเทศ
ในปี 2561 ประเทศไทยสามารถส่งออกเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกไปต่างประเทศเป็นมูลค่ากว่า 1.09 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตจากสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองฮาลาลกว่า 1.04 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 95 ของสินค้าสัตว์ปีกทั้งหมด โดยตลาดฮาลาลสำหรับประเทศไทยยังมีโอกาสเติมโตได้อีกมาก เนื่องจากประชากรโลกกว่า 1.8 พันล้านคน เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งสินค้าที่ผ่านการรับรองฮาลาลเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคทุกศาสนาสามารถบริโภคได้ ดังนั้นการบูรณาการในการดำเนินงานด้านปศุสัตว์ฮาลาลระหว่าง กรมปศุสัตว์ และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จึงเป็นการส่งเสริมให้สินค้าปศุสัตว์ฮาลาลของไทยเป็นสินค้าที่ถูกหลักฮาลาลตามหลักศาสนา และปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งกรมปศุสัตว์มีความมุ่งหวังให้ผู้บริโภคทุกคนได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ดีและปลอดภัย"