ฟิทช์ เรทติ้งส์ประเมินว่า ไทยประกันชีวิตมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2561ระดับเงินกองทุนอยู่ที่ 374% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดไว้ที่ 140% ขณะที่ผลประเมินระดับความแข็งแกร่งในด้านเงินกองทุนประมาณการตามแบบจำลองของ Prism Factor-Based Capital Model (Prism FBM) ของฟิทช์ฯ พบว่าอยู่ในระดับ "แข็งแกร่ง" (Strong) ซึ่งเชื่อว่าบริษัทฯ จะสามารถรักษาฐานะของเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง จากความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับที่ดี และสามารถรับมือกับความเสี่ยงทางธุรกิจได้ดี
ขณะเดียวกันไทยประกันชีวิตมีโครงสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่ง มีส่วนแบ่งทางการตลาดจากเครือข่ายตัวแทนที่มีจำนวนมากกว่า 30,000 คน มีฐานลูกค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค นอกจากนั้น ยังมีพันธมิตรธุรกิจที่มีศักยภาพ คือ บริษัท เมจิ ยาซึดะ ไลฟ์ อินชัวรันส์ จำกัด บริษัทประกันชีวิตรายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ที่เข้ามาสนับสนุนทางด้านการดำเนินงานและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้สามารถแข่งขันในระดับสากลได้ดียิ่งขึ้น
ไทยประกันชีวิตมีผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อทรัพย์สิน ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2561 เฉลี่ยที่ 2.2% ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่ฟิทช์ฯ กำหนด ขณะที่พอร์ตการลงทุนมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่มีคุณภาพดีเป็นหลัก ประมาณ 53% ของมูลค่าเงินลงทุนในตราสารหนี้รวม สัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนมีประมาณ 11% ของมูลค่าเงินลงทุนรวม และเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีระยะเวลาการลงทุนยาวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจได้รับจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย
"บริษัทฯ มุ่งให้ความสำคัญต่อความมั่นคงทางการเงิน โดยดำเนินนโยบายการบริหารและจัดการการลงทุนอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้เอาประกันตามสัญญากรมธรรม์ การมุ่งรักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูง รวมถึงการสร้างอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันรับอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขยายตลาดผ่านช่องทางหลัก คือช่องทางตัวแทน ควบคู่กับการขยายตลาดผ่านช่องทางการขายใหม่ๆ อาทิ Telesales, Bancassurance หรือ E-Commerce ขณะเดียวกันบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในภาวะต่างๆ อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้เอาประกัน และสร้างความมั่นคงแก่องค์กรอย่างยั่งยืน" นางวรางค์กล่าว