ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มรภ.สงขลา นำโดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับ สกว.ฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า และนักวิจัยจาก มรภ.สงขลา พร้อมด้วยคณะนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาในเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูลฯ อาทิ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เข้าร่วมประชุมเปิดตัวโครงการวิจัยในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล ประจำปีงบประมาณ 2562 พร้อมแสดงเจตนารมณ์และแนวทางสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ ร่วมกับ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัยมุ่งเป้า (สกว.) นายสุเทพ เกื้อสังข์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.
ผศ.ดร.นิวัต กล่าวว่า นอกจากนั้น ยังมีการนำเสนอรายละเอียดโครงการวิจัยในประเด็นต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาการท่องเที่ยว การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน การพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และ การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ พร้อมทั้งเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูลสู่ความยั่งยืน เนื่องจากแม้แต่ยูเนสโกเองยังให้ความสำคัญกับ จ.สตูล ดังนั้น คนในพื้นที่ต้องช่วยกันปกปักรักษาและสนับสนุนพื้นที่อันทรงคุณค่าแห่งนี้ และส่งต่อความรู้สึกรักและหวงแหนในฐานะเจ้าบ้านให้กับลูกหลาน ซึ่งตนอยากขอเชิญชวนทุกท่านให้มาเยี่ยมชมอุทยานธรณีโลกสตูล เพื่อสะท้อนให้ชาวโลกรู้ว่าอาเซียนของเรามีของดีที่มีคุณค่า และเป็นมรดกของโลกที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดจากมนุษย์สร้างขึ้น
ด้าน ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัยมุ่งเป้า (สกว.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักวิจัยมุ่งเป้าได้อนุมัติงบประมาณในการดำเนินการไปแล้วกว่า 28 ล้านบาท และยังมีเฟสที่ 2 ในปี 2563 และ 2564 ซึ่งเวทีในวันนี้ทางพื้นที่หรือเจ้าของบ้าน ผู้ประกอบการ รวมทั้งทางจังหวัด มาช่วยดูว่าในแผนดำเนินการมีอะไรบ้างที่จะต้องมาเติมเต็ม และต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ คณะทำงานได้หารือร่วมกันถึงแนวคิดในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สกว. มรภ.สงขลา ร่วมกับทางจังหวัดสตูล คาดว่าจะเป็นการขับเคลื่อนงานหลายๆ ภาคส่วนในบริบทของการทำงานของ สกว. ในขณะที่กลุ่มงานอีกกลุ่มหนึ่งจะเน้นในเรื่องนวัตกรรมการศึกษาของชุมชน เพื่อดูการพัฒนาในมิติความยั่งยืนของสังคม โดยจะมีนักวิจัยเข้ามาขับเคลื่อนร่วมกับภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน