กระทรวงเกษตรฯ เตรียมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร คาด ! หากสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคในประเทศได้ จะเป็นโอกาสทางธุรกิจ พร้อมยืนยันยังไม่พบการระบาดในไทยและเป็นโรคที่ไม่ระบาดสู่คน

พฤหัส ๑๘ เมษายน ๒๐๑๙ ๑๕:๓๒
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายมาตรการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) ของประเทศไทย ณ โรงแรมสเตชั่นวัน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีการแพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันได้มีการระบาดใน 18 ประเทศ หลายภูมิภาคทั่วโลก สำหรับทวีปเอเชียพบการระบาดครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมามีรายงานการระบาดที่ประเทศมองโกเลีย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งสถานการณ์การระบาดของโรคในแต่ละประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเข้าสู่ประเทศมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว การค้าขาย การขนส่งสินค้า ปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่มีข้อจำกัดด้านชายแดนที่มีระยะทางยาว เป็นต้น รวมถึงความต้องการสุกรและผลิตภัณฑ์สูงขึ้น ส่งผลให้มีการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์สุกรโดยนักท่องเที่ยวตามแนวชายแดน อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ได้เข้มงวดจับกุมการลักลอบเคลื่อนย้ายสุกร ซากสุกร และผลิตภัณฑ์สุกรที่นักท่องเที่ยวนำมาบริโภคอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2561 จนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2562 ได้มีการตรวจยึดการลักลอบเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์จากสุกร จำนวน 344 ครั้ง และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จำนวน 59 ตัวอย่าง

นายลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย โดยคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) ด้านโครงสร้างการบริหารจัดการและขับเคลื่อนมาตรการ โดยจัดให้มีคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ ประกอบด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์ และภาคเอกชน และ 2) แผนการดำเนินงานและแผนใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินงาน โดยแผนการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะก่อนเผชิญเหตุการระบาด ระยะเผชิญเหตุการระบาด และระยะภายหลังเผชิญเหตุการระบาด ซึ่งมีแผนใช้จ่ายงบประมาณในปี 2562 - 2554 ในการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 148,542,900 บาท

นอกจากนี้ การดำเนินการตามแผนเตรียมความพร้อมดังกล่าว ยังแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน โดยจะดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค และระยะยาว โดยจะยกระดับมาตรการการควบคุมป้องกันโรคให้มีมาตรฐานสากล โดยจัดสร้างโรงทำลายซากสัตว์ติดเชื้อ เนื่องจากเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีความคงทนในสภาพแวดล้อมสูง อีกทั้งหากทำลายโดยการฝังจะต้องใช้พื้นที่จำนวนมากและการดำเนินการทำลายเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีโอกาสที่เชื้อจะตกค้างและแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อม หรือหากทำลายโดยวิธีการเผาจะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องมีวิธีการกำจัดซากที่ติดเชื้ออย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว อีกทั้งหากกรณีไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรยังสามารถใช้ในการกำจัดซากสัตว์ติดเชื้อของโรคระบาดอื่น ๆ ได้อีกด้วย จึงถือเป็นมาตรการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพได้อย่างยั่งยืน

"ขอยืนยันว่ายังไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าโรคดังกล่าวจะไม่ติดต่อสู่คน แต่โรคนี้มีความรุนแรงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้มีการประกาศเขตเฝ้าระวังในพื้นที่เขตจังหวัดชายแดนทั้งหมด 16 จังหวัดทั่วประเทศ และแผนการดำเนินการป้องกันโรคดังกล่าว ยังได้นำสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงเกษตรฯ จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถสกัดกั้นโรคนี้ไม่ให้เข้ามาสู่ประเทศไทยได้ ทั้งนี้ หากประเทศไทยมีระบบการป้องกันโรคที่ดี รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้มีระบบการทำลายสุกรที่เป็นโรคและซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาดเป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคในประเทศได้ จะเป็นโอกาสทางธุรกิจเนื่องจากความต้องการสุกรของสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และราชอาณาจักรกัมพูชา เพิ่มสูงขึ้น จากเดิมก่อนเกิดโรคราคาสุกรมีชีวิตของประเทศไทยกิโลกรัมละ 60 บาท ภายหลังเกิดโรคคาดการณ์ว่าจะทำให้ราคาสุกรในประเทศมีราคาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 80 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 44,000 ล้านบาทต่อปี" นายลักษณ์ กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO