กัญชาจัดเป็นพืชที่ในทางการแพทย์ระบุว่ามีสรรพคุณช่วยรักษาโรค เช่น ระงับปวด ระงับประสาท แก้อักเสบ เป็นต้น ซึ่งในหลายประเทศได้มีการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยมีการกำหนดให้สามารถปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ขณะเดียวกันในบางประเทศมีการอนุญาตให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาได้อย่างเสรี สำหรับประเทศไทยได้มีการกำหนดให้กัญชาเป็นพืชเสพติดตามกฎหมายยาเสพติด แต่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีการแก้ไขให้สามารถปลูกกัญชาเพื่อการวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว
ถึงแม้ในพระราชบัญญัติที่มีการแก้ไขจะมีการกำหนดให้ปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้เท่านั้น รวมถึงมีการจำกัดพื้นที่ปลูกอย่างชัดเจน แต่ผู้คนในสังคมบางส่วนยังคงมีความกังวลว่าอาจทำให้มีการลักลอบปลูกกัญชาเพื่อการเสพและทำให้มีผู้เสพติดกัญชาเพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาทางสังคมต่างๆ ขณะเดียวกันมีผู้คนอีกบางส่วนเห็นด้วยกับการอนุญาตให้ปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการรักษาพยาบาลได้ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการอนุญาตให้ปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปี แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.46 เพศชายร้อยละ 49.54 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับการอนุญาตให้ปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์กับสรรพคุณของกัญชา กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.13 ทราบว่าในปัจจุบันมีการปรับแก้กฎหมายยาเสพติดโดยอนุญาตให้สามารถปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้แล้ว ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 43.87 ไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.05 ยอมรับว่าตนเองไม่ทราบ/ไม่เคยได้ยินมาก่อนว่ากัญชามีสรรพคุณทางการแพทย์ในการบรรเทา/รักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.95 ระบุว่าทราบ/เคยได้ยินมาก่อน
ในด้านความคิดเห็นต่อการอนุญาตให้ปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์นั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.21 เห็นด้วยกับการอนุญาตให้สามารถปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.23 มีความคิดเห็นว่าการอนุญาตให้สามารถปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้จะมีส่วนช่วยเพิ่มทางเลือกในการรักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วย/คนไข้ได้ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.97 มีความคิดเห็นว่าการอนุญาตให้สามารถปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้จะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วย/คนไข้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้จริง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.05 กังวลว่าการอนุญาตให้สามารถปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้จะทำให้มีผู้ลักลอบปลูกกัญชาเพื่อใช้/ขายสำหรับการเสพมากขึ้น ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 68.81 กังวลว่าการอนุญาตให้สามารถปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้จะทำให้มีผู้เสพติดกัญชามากขึ้นได้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.34 กังวลว่าการอนุญาตให้สามารถปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้จะทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมต่างๆในสังคมเพิ่มมากขึ้นได้
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.26 ไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุม/ป้องกันการลักลอบปลูกกัญชาเพื่อเสพได้หลังจากที่มีการอนุญาตให้สามารถปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.91 เชื่อ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.83 ไม่แน่ใจ โดยที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.1 มีความคิดเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้นเกี่ยวกับการอนุญาตให้สามารถปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.81 มีความคิดเห็นว่าไม่จำเป็น ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.09 ไม่แน่ใจ