สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “65.59% กังวลว่ารัฐบาลจะนำเอาพรบ.ไซเบอร์มาปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง”

จันทร์ ๒๒ เมษายน ๒๐๑๙ ๑๔:๔๖
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) เปิดเผยผลการสำรวจ "ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อพระราชบัญญัติความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล" สำรวจระหว่างวันที่ 15 ถึง 19 เมษายน พ.ศ. 2562 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,174 คน

ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อใช้ควบคุมและป้องกันภัยคุกคามทางระบบข้อมูลสารสนเทศซึ่งส่งผลกระทบกับความมั่นคงของประเทศ โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้คือการกำหนดให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) สำหรับกำหนดนโยบายให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ รวมถึงกำหนดนโยบายการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) ซึ่งมีอำนาจออกคำสั่งเพื่อตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายส่งผลกระทบกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งได้แสดงความห่วงใยต่อการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวว่าอาจเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลในการใช้งานคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต รวมถึงการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งเป็นช่องทางที่ผู้คนในปัจจุบันนิยมใช้ติดต่อสื่อสารและแสดงความคิดเห็นต่างๆ ขณะเดียวกันมีผู้กังวลว่าในอนาคตรัฐบาลอาจใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นเครื่องมือควบคุมและปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง รวมถึงผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลการทุจริตคอรัปชั่นต่างๆของรัฐบาล จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อพระราชบัญญัติความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.34 และเพศชายร้อยละ 49.66 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับการผ่านกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.33 ทราบว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพื่อป้องกันภัยคุกคามทางระบบสารสนเทศ/คอมพิวเตอร์/อินเทอร์เน็ตที่ส่งผลกระทบกับประเทศ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 42.67 ไม่ทราบ

ในด้านความคิดเห็นต่อกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 60.31 มีความคิดเห็นว่ากฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จะช่วยป้องกันภัยคุกคามที่มีต่อระบบสารสนเทศ/คอมพิวเตอร์/อินเทอร์เน็ตของประเทศ เช่น การโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว การแพร่ไวรัสทำลายระบบคอมพิวเตอร์ การทำลายระบบบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ การเข้าถึงข้อมูลความมั่นคงต่างๆ เป็นต้น ได้จริง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.75 ระบุว่าจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จเพื่อสร้างความวุ่นวาย/ตื่นตระหนกให้กับประชาชนได้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.88 และร้อยละ 55.28 ระบุว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานระบบข้อมูลสารสนเทศ/คอมพิวเตอร์/อินเทอร์เน็ตของประชาชนในประเทศให้สูงขึ้นได้ และจะมีส่วนช่วยยกระดับบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-service) ของหน่วยงานต่างๆให้มีความปลอดภัยมากขึ้นได้ ตามลำดับ ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.81 มีความคิดเห็นว่ากฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จะไม่ส่งผลกระทบกับการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ในชีวิตประจำวันของประชาชน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.84 เชื่อว่ามีผู้จงใจบิดเบือนเนื้อหาของกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26.92 ไม่เชื่อ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.24 ไม่แน่ใจ

สำหรับความกังวลต่อกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์นั้น กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.59 กังวลว่ารัฐบาลในอนาคตจะนำเอากฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มาเป็นเครื่องมือข่มขู่/จับกุม/ปราบปรามกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.12 กังวลว่ารัฐบาลในอนาคตจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.39 กังวลว่ารัฐบาลในอนาคตจะนำมาเป็นเครื่องมือละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลในการใช้งานคอมพิวเตอร์/อินเทอร์เน็ต/เครือข่ายสังคมออนไลน์ของประชาชน นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.91 กังวลว่ารัฐบาลในอนาคตจะนำเอากฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มาใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นไม่ให้ประชาชนรับรู้/รับทราบ/เข้าถึงข้อมูลข่าวสารการคอรัปชั่น/ทุจริตประพฤติมิชอบในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.38 มีความคิดเห็นว่าภาครัฐจำเป็นจะต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเนื้อหาของกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.49 มีความคิดเห็นว่าไม่จำเป็น ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.13 ไม่แน่ใจ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version