นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้เห็นชอบแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก (ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง) และแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลิ้นจี่) โดยมอบหมายให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักในการบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ ปี 2562 ให้เป็นไปตามกลไกของตลาดปกติ โดยเน้นการบริหารจัดการเชิงคุณภาพ 3 ระยะ ตั้งแต่ระยะก่อนเก็บเกี่ยว เพื่อส่งเสริมการผลิตให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน GAP เกิดการรวมกลุ่มกันเป็นแปลงใหญ่สามารถเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า ระยะเก็บเกี่ยว แนะนำเก็บเกี่ยวระยะเหมาะสม ป้องปรามผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ส่งเสริมการจำหน่ายผลไม้คุณภาพ ระยะหลังเก็บเกี่ยว ให้คำแนะนำการเตรียมความพร้อมของต้นสำหรับฤดูต่อไป ส่วนการจัดการเชิงปริมาณ ก่อนเก็บเกี่ยว ให้สำรวจและจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิต ระยะเก็บเกี่ยว ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และบริโภคผลไม้ตามฤดูกาล หลังเก็บเกี่ยว ส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลไม้ พร้อมติดตามสถานการณ์ ประเมินผล เพื่อปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ปีต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาในช่วงที่ผลผลิตออกมาพร้อมกันมากๆ จะไม่ทำให้เกษตรกรหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต และราคาเฉลี่ยของผลผลิตตลอดฤดูกาลมีราคาสูงกว่าต้นทุนการผลิตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30
โดยในปี 2562 นี้ ได้มีการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตผลไม้ในภาคตะวันออกน่าจะมีผลผลิตรวม ทั้ง 4 ชนิด ประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ประมาณ 911,434 ตัน ซึ่งผลผลิตน่าจะออกมากช่วงกลางเดือนเมษายนพร้อมกัน และต่อเนื่องไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม โดยภาพรวมผลผลิตของผลไม้ทั้ง 4 ชนิดจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ได้แก่ ทุเรียน จำนวน 511,872 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 403,906 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.73 เงาะ จำนวน 194,513 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 173,224 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.29 มังคุด จำนวน 181,390 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 73,576 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 146.53 และลองกอง จำนวน 23,659 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 16,319 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.98 ส่วนผลไม้ภาคเหนือ คือ ลิ้นจี่ จำนวน 41,473 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 41,220 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.61 อันเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยส่งผลให้ต้นไม้ผลมีเวลาพักตัวและสะสมอาหารได้นานขึ้น ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นตามมา
ในส่วนการควบคุมผลไม้อ่อนออกสู่ตลาด อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ ได้มีการจัดตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อช่วยกันสกัดกั้นทุเรียนอ่อนในจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ โดยใช้บทลงโทษทางกฎหมาย พร้อมทั้งรณรงค์แก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรทำผลผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP ส่งเสริมการบริโภคผลไม้โดยตรงกับผู้บริโภค การใช้สติ๊กเกอร์ติดขั้วทุเรียนเพื่อรับรองคุณภาพสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้