แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย เปิดคะแนน 'การเงินที่เป็นธรรม’ 9 ธนาคาร เทียบนานาชาติ กสิกรไทย - ไทยพาณิชย์ - กรุงไทย ขึ้นท็อปลิสต์

พุธ ๒๔ เมษายน ๒๐๑๙ ๑๗:๓๗
แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) เผย ผลการประเมินนโยบายของสถาบันการเงินในประเทศไทย ประจำปี 2562 โดยใช้แนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัด 'การเงินที่เป็นธรรม' ถูกใช้เพื่อผลักดันให้เกิด 'การธนาคารที่ยั่งยืน' มาแล้วใน 9 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม บราซิล ฝรั่งเศส เยอรมนี อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน โดยประเทศไทยเป็นสมาชิกในลำดับที่ 10

เมื่อประเมินจากเนื้อหานโยบายและแนวปฏิบัติในการลงทุนและการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงิน เปรียบเทียบกับมาตรฐานสากลด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง พบว่าค่าเฉลี่ยจาก 9 ธนาคารไทย ได้คะแนนเพียง 12.62% ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยนานาชาติ ซึ่งอยู่ที่ 46.86%

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย กล่าวว่า "คะแนนนี้สะท้อนว่าธนาคารไทยยังมีช่องทางที่จะพัฒนาได้อีกมาก โดยเฉพาะการออกนโยบายสินเชื่อที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ในแง่บวก ธนาคารหลายแห่งมีความตื่นตัวเรื่องสิทธิผู้บริโภคมากกว่าในอดีต ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการให้บริการทางการเงินที่เป็นธรรม"

มาตรฐานสากลด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง ใน 12 หัวข้อ ที่นำมาใช้ในการประเมินนโยบาย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทุจริตคอร์รัปชัน ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน ธรรมชาติ ภาษี อาวุธ การคุ้มครองผู้บริโภค การขยายบริการทางการเงิน การตอบแทน ความโปร่งใสและความรับผิด โดยธนาคารที่ขึ้นท็อปลิสต์ในสามอันดับแรก คือ ธนาคารกสิกรไทย 17.46% ธนาคารไทยพาณิชย์ 14.66% และธนาคารกรุงไทย 14.22%

เป็นที่น่าสนใจว่าจาก 9 ธนาคาร มีเพียงธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีนโยบายเกี่ยวกับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางกระแสการรณรงค์ลดโลกร้อนที่ผู้บริโภคเริ่มเห็นความสำคัญ อีกทั้งยังไม่มีธนาคารใดที่อยู่ในการประเมินนี้ได้รับคะแนนในหัวข้อธรรมชาติ ชี้ให้เห็นว่ายังขาดคำมั่นสัญญาว่าจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่อุตสาหกรรมที่สุ่มเสี่ยงที่จะก่อผลกระทบทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้านความเท่าเทียมทางเพศ ก็มีเพียงธนาคารกรุงเทพและธนาคารเกียรตินาคินที่ได้คะแนนเนื่องจากมีนโยบายที่ชัดเจน หรือแม้แต่ในด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งนับเป็นเรื่องพื้นฐานของสังคม ก็มีเพียงธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์เพียงสองแห่งที่มีนโยบายรับหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ

ธนาคารที่อยู่ในการประเมินนี้ มีทั้งสิ้น 9 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาต ธนาคารทหารไทย ธนาคารทิสโก้ และธนาคารเกียรตินาคิน โดยเป็นการประเมินครั้งแรก ภายหลังการกำเนิด แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair FinanceThailand) ในปี 2561 ที่มีสมาชิกประกอบด้วยบริษัทวิจัย ป่าสาละ จำกัด และองค์กรภาคประชาสังคม ได้แก่ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิบูรณะนิเวศ มุ่งติดตามผลกระทบและความท้าทายของธุรกิจธนาคารต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค และผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ 'การธนาคารที่ยั่งยืน' (Sustainable Banking) อย่างแท้จริง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ คปภ. เปิดตัวคู่มือการทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) และการประกันอัคคีภัย แนะแนวทางการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยอย่างเหมาะสม
๑๖:๒๖ SiteMinder เผย โรงแรมไทยเติบโต ก้าวเป็นผู้นำตลาด หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้าประเทศ
๑๗:๕๙ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งให้การต้อนรับ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ณ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พลับพลาไชย กรุงเทพฯ
๑๖:๐๐ fintips by ttb เผยเคล็ดลับ รถใหม่ป้ายแดงหรือรถมือสอง เลือกแบบไหนให้เหมาะกับเราที่สุด
๑๖:๐๐ มาแล้ว! เปิดตัว Samsung Galaxy S25 ซีรีส์ใหม่ล่าสุด มาพร้อม Galaxy AI ผู้ช่วยส่วนตัวคนใหม่ของคนไทย ตอบโจทย์รู้ใจทุกความต้องการเฉพาะคน
๑๖:๐๐ กทม. เดินหน้ากำจัดปลาหมอคางดำ ลดผลกระทบเกษตรกร-แปรรูปสร้างรายได้
๑๖:๐๐ เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9 ร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนยิ่งใหญ่ Chinese Market 2025 ช้อปสินค้ามงคล เสริมดวงโชคดีมั่งมี
๑๖:๐๐ SNPS ต้อนรับ คณะผู้บริหารและนักวิจัยสภากาชาดไทย
๑๕:๒๔ BEST Supply Chain ยกระดับจัดการคลังสินค้ายุคใหม่ ชู BEST Fulfillment เพิ่มประสิทธิภาพจัดการสินค้า จบครบในที่เดียว
๑๕:๐๐ เด็กซ์ซอนผนึกกำลังภาคีเครือข่าย TCCA ตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero