ดร.พีระพล เปิดเผยว่า สอศ.และธปท. มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางการเงินแก่นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อให้เกิดความตระหนัก มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถบริหารจัดการการเงินได้อย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย ซึ่งถือเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญของเยาวชนในสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศ และเป็นแนวทางในการพัฒนาระดับทักษะทางการเงินของนักเรียน นักศึกษาในระดับที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ สอศ.และธปท.จะร่วมมือกันพัฒนาเนื้อหาความรู้และกิจกรรมต่างๆ สำหรับนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรอาชีวศึกษา โดยมอบหมายให้บุคลากรและ/หรือกลุ่มงานจัดทำเนื้อหาและสื่อความรู้ เพื่อเผยแพร่บนสื่อต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนและผลักดันให้มีการปฏิบัติต่อเนื่องอย่างยั่งยืนในการเรียนการสอนและการทำกิจกรรมต่างๆ โดยจะมีการพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งจะร่วมมือกันเผยแพร่ความรู้ทางการเงินผ่านช่องทางเครือข่ายของแต่ละฝ่าย ตลอดจนการร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่และส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้แก่นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรอาชีวศึกษา จัดการประเมินผลกิจกรรมให้ความรู้และมีการติดตามผลความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินของผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาเนื้อหาความรู้ กิจกรรม และการกำหนดนโยบายพัฒนาทักษะทางการเงินของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาต่อไป
ด้าน นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากความสำเร็จของโครงการ "Fin. ดี We can do!!! ในครั้งที่ 1 เมื่อปี 2561 เป็นโครงการนำร่องในสถานศึกษา สังกัด สอศ.จำนวน 17 แห่ง จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จึงทำให้เกิดการจัดกิจกรรมการประกวดผลงานด้านความรู้ทางการเงิน "Fin. ดี We can do!!! Season 2" และพบว่านักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถส่งต่อความรู้ทางการเงินจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ผ่านการทำกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งมีการถ่ายทอดแนวคิดไปสู่สถานศึกษาอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งจะเป็นการสานต่อการบ่มเพาะภูมิคุ้มกันและทักษะทางการเงินที่ดีให้แก่นักศึกษาอาชีวศึกษา รวมทั้งต่อยอดการสร้างเครือข่ายขยายผลความรู้ทางการเงินอย่างยั่งยืน เปิดโอกาสให้นักศึกษาอาชีวศึกษาทั่วประเทศได้แสดงศักยภาพ และพัฒนาทักษะทางการเงินที่ดีต่อไป
สำหรับโครงการ Fin. ดี We can do!!! Season 2 เป็นการประกวดผลงานส่งเสริมความรู้ทางการเงินที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาอาชีวศึกษาได้เรียนรู้จากการคิดค้นและทดลองปฏิบัติจริงบนแนวคิด "ผลงานของคนอาชีวะ เพื่อคนอาชีวะ" โดยมุ่งเน้นการนำความรู้ทางการเงินมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่การคิดวิเคราะห์โจทย์ วางแผน ลงมือทำ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ติดตามผล ตลอดจนนำเสนอผลลัพธ์ ซึ่งจะขยายสู่สถานศึกษา สังกัด สอศ. จำนวน 150 แห่ง รวมทั้งการสร้างพฤติกรรมทางการเงินที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืน
รองเลขาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกวดแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับโครงงานสร้างสรรค์ และระดับสถานศึกษาต้นแบบ ซึ่งระดับโครงงานสร้างสรรค์: เปิดรับผลงานของนักศึกษาจากสถานศึกษา สังกัด สอศ. ทั่วประเทศ เพื่อคัดเลือก 40 ทีม ที่จะได้รับการเตรียมความพร้อมในด้านความรู้ทางการเงินพื้นฐาน และเทคนิคในการจัดทำผลงาน หลังจากนั้นจะคัดเลือก 20 ทีม จากข้อเสนอโครงการให้ลงมือทำผลงานจริง โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนและคำแนะนำจากทีมงาน ธปท. และในรอบชิงชนะเลิศจะเป็น 10 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อตัดสินรางวัล โดยมุ่งเน้นผลในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางการเงินที่เหมาะสม ซึ่งโครงงานนี้ จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ กิจกรรมการเรียนรู้ และกิจกรรมสิ่งประดิษฐ์
ส่วนระดับสถานศึกษาต้นแบบ : เป็นการสานต่อความยั่งยืนของการส่งเสริมความรู้ทางการเงินในสถานศึกษา โดยสถานศึกษา สังกัด สอศ.ที่มีผลงานผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศในการประกวดโครงการ Fin ดี We can Do!!! ในปี 2561 นำผลงานดังกล่าวมาต่อยอดและขยายไปสู่สถานศึกษา สังกัดสอศ. อื่นๆ โดยสมาชิกในทีมจะเป็นนักศึกษา และหรือ ครู ซึ่งเป็นสมาชิกเดิม หรือสมาชิกใหม่ก็ได้
สำหรับรางวัล นักศึกษา ครูที่ปรึกษา ครูที่เป็นสมาชิกทีม และผู้บริหารสถานศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติการอบรมความรู้ทางการเงิน และทักษะอื่นๆ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ สำหรับทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับเงินทุนสนับสนุนเพื่อจัดทำผลงานและเงินรางวัลรวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 1 ล้านบาท เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม – 17 มิถุนายน 2562 โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารการประกวดได้ที่ www.1213.or.th และ www.facebook.com/hotline1213 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 0-2283-6157, 0-2356-7181 และ 0-2283-6760 รองเลขาธิการ กล่าวปิดท้าย