นางอุมาพรฯ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ดำเนินงานโครงการยกระดับ OTOP ใน 10 จังหวัดเป้าหมาย โดยจังหวัดนราธิวาส ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP ในพื้นที่ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผนวกกับภูมิปัญญาและวัตถุดิบในท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแก้ไขปัญหาและยกระดับการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐานรองรับ สามารถขยายตลาดได้ช่วยให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งในจังหวัดนราธิวาสนี้มีผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพ จำนวนกว่า 60 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ผลิตภัณฑ์ของใช้ ของประดับตกแต่งและของที่ระลึก และผลิตภัณฑ์อาหาร
ทั้งนี้ในการติดตามผลการดำเนินงานกลุ่มของศูนย์ฝึกอาชีพญาดาที่ส่วนใหญ่ผลิตผ้าบาติก ซึ่งแต่ก่อนการผลิตยังมีปัญหาผ้าบาติกมีค่าความเป็นกรด-ด่างเกินมาตรฐานกำหนดและกระบวนการผลิตที่ใช้สีวาดลวดลายแล้วต้องใช้ระยะเวลานานการตากผ้าเพื่อให้สีแห้งทำให้ผลิตผ้าไม่ทันการส่งขาย รวมทั้งยังต้องการใช้สีธรรมชาติในการทำบาติก ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์บริการจึงได้จัดฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้การใช้สีธรรมชาติสำหรับผ้าบาติก ให้คำปรึกษาแนะนำการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้ค่าความเป็นกรด-ด่างได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน การปรับปรุงสถานที่ผลิตให้อากาศถ่ายเทและติดตั้งหลังคาแบบโปร่งแสงสามารถตากผ้าให้แห้งได้ ผลการดำเนินของกลุ่มผู้ประกอบการสามารถผลิตผ้าบาติกที่มีคุณภาพได้ตามเกณฑ์ มผช. และ ปรับปรุงสถานที่ผลิต ขยายโรงเรือนทำให้สามารถมีพื้นที่ในการตากผ้าเพิ่มขึ้นและช่วยในการระบายอากาศมากขึ้น ทำผ้าแห้งเร็วและสีคงทน ไม่ซีด
และการติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์วิสาหกิจชุมชนแปรรูปมะพร้าวบ้านทอนอามาน ซึ่งมีปัญหาการผลิต ทำให้ผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นเมื่อเก็บไว้หลายเดือนจะมีกลิ่นหืนและมีตะกอน คุณภาพไม่สม่ำเสมอ การผลิตใช้มือวัดอุณหภูมิน้ำยังไม่มีการควบคุมอย่างถูกต้อง ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์บริการจึงได้จัดฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ แนะนำการปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น มีการควบคุมอุณหภูมิของน้ำโดยการใช้เทอร์โมมิเตอร์แทนการใช้นิ้วมือ พัฒนาให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพที่สม่ำเสมอ การปรับปรุงสถานที่ผลิตให้ถูกสุขลักษณะ ผลการดำเนินของกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นมีอายุการเก็บที่นานขึ้น มีความใส ไม่มีตะกอน และสามารถส่งออกไปขายยังจังหวัดอื่นได้ นอกจากนี้ศูนย์วิสาหกิจชุมชนแปรรูปมะพร้าวบ้านทอนอามานเป็นศูนย์เรียนรู้การสร้างอาชีพให้แก่สมาชิกภายในชุมชน สามารถต่อยอดโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับให้แก่สมาชิกต่อไป