ช. การช่างเผยทิศทางธุรกิจปี 62 มุ่งเตรียมความพร้อมจากความแข็งแกร่งของกลยุทธ์ธุรกิจจากการผนึกกำลังของบริษัทภายในเครือ ผนวกความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างที่หลากหลาย ตลอดจนโครงการขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนสูง พร้อมเดินหน้าประมูลโครงการใหญ่ ทั้งโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคในต่างประเทศ ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานครบวงจรระดับภูมิภาคบนการส่งเสริมการสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจในทุกมิติ ทั้งยังได้รับการเลื่อนอันดับจากทริสเรตติ้งเป็น A สูงสุดครั้งแรกของบริษัท มั่นใจอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างเติบโตดีใน 2-3 ปีข้างหน้า ตั้งเป้ารายได้ปี 62 ที่ 25,000 – 30,000 ล้านบาท และโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เปิดเผยว่าสำหรับในปี 2562บริษัทฯ จะยังคงมุ่งไปที่การเตรียมความพร้อมความแข็งแกร่งของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ จากการผนึกกำลังของบริษัทต่าง ๆ ในเครือซึ่งต่างเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งระบบราง ถนน พลังงานและประปา ประกอบด้วย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) ซึ่งสามารถสร้างรายได้และปันผลสม่ำเสมอให้แก่บริษัทฯ ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยบริหารความเสี่ยงและสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจให้แก่ช.การช่างอย่างมีเสถียรภาพ ท่ามกลางความผันผวนที่เกิดจากวงจรธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ตอกย้ำศักยภาพการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานครบวงจรระดับภูมิภาคที่พร้อมจะเข้าร่วมประมูลงานโครงการต่างๆ ของภาครัฐทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ด้วยความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างที่หลากหลาย ตลอดจนโครงการขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนสูง
นางสาวสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ณ สิ้นปี 2561 บริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) มูลค่า 48,965ล้านบาทในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ประมาณ 25,000-30,000 ล้านบาทท่ามกลางแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมก่อสร้างในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยบริษัทมุ่งเน้นงาน โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมที่จะออกประมูล รวมถึงโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1.77 ล้านล้านบาท เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ระหว่างกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มูลค่า 179,412 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ มูลค่า 143,000 ล้านบาท โครงการทางสายพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนองมูลค่า 30,437 ล้านบาท โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา วงเงินลงทุน 84,600 ล้านบาท สายบางใหญ่-กาญจนบุรี 55,620 ล้านบาท รถไฟทางคู่เฟส 2 9 เส้นทาง มูลค่ารวม 397,084 ล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 224,544.36 ล้านบาทโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภามูลค่า 200,000 ล้านบาทเป็นต้น สำหรับโครงการในต่างประเทศ ซึ่งจะเน้นโครงการในแถบโซนเอเชียและบริษัทจะเน้นในด้านการประมูลงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่มีความเสี่ยงน้อยและผลตอบแทนที่เหมาะสม โดยบริษัทในกลุ่มกำลังดำเนินการศึกษาแนวทางในการลงทุนและ ช.การช่างพร้อมมารับงานก่อสร้าง ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางด่วนย่างกุ้งในประเทศเมียนม่าร์ มูลค่า 400 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และ โครงการพัฒนาระบบน้ำประปาในประเทศศรีลังกา รวมถึงโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในสปป.ลาว ซึ่งบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) กำลังเจรจากับรัฐบาลลาวอยู่ ซึ่งคาดว่าจะเห็นความคืบหน้าเร็วๆนี้
ในปี 2561 บริษัทมีรายได้รวม 31,176 ล้านบาท กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวน 2,494 ล้านบาท มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ร้อยละ7.92 ซึ่งเป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้
นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทยังได้รับการปรับอันดับเครดิตจากทริสเรตติ้งเพิ่มเป็น เป็น "A" จาก A- แนวโน้ม Stable สะท้อนความเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำของไทย ขยายลงทุนในกลุ่มบริษัท หนุนรายได้และผลตอบแทนที่ดี ลดความเสี่ยงความผันผวนอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง ด้านหนี้สินลดลง นอกจากนี้บริษัทยังได้รับรางวัลบริษัทจดทะเบียนด้านความยั่งยืน Thailand Sustainability Investment 2018 (THSI) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รับการประเมินการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย (CGR) จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) อยู่ในเกณฑ์ดีเลิศ เป็นที่ 4 ติดต่อกัน และยังได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ประเภทรางวัลบริษัทจดทะเบียนนักลงทุนสัมพันธ์ (Best Investor Relations Awards) ในงาน SET Awards 2018 ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและวารสารการเงินธนาคาร ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งการันตีถึงความเชื่อมั่นที่ตลาดหลักทรัพย์และนักลงทุนมีให้กับช.การช่าง
สำหรับโครงการต่างๆที่กำลังดำเนินการ มีความคืบหน้าน่าพอใจทุกโครงการ โดย ณ เดือนเมษายน 2562 มีรายละเอียด ดังนี้
โครงการเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว มูลค่า 135,000 ล้านบาท – ความคืบหน้าร้อยละ 93 โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2562
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย) สัญญา 2 ความคืบหน้า ร้อยละ 99
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย) สัญญาที่ 6 ความคืบหน้า ร้อยละ 60
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี) สัญญาที่ 1, 2 และ 5 มีความคืบหน้าร้อยละ 20
ช.การช่าง ยังคงยืนหยัดบนการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติของธุรกิจ บนแนวคิดการบริหาร The Power of Synergyซึ่งเป็นการผสานจุดแกร่งจากธุรกิจในเครือของบริษัทเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ สามารถบริหารความเสี่ยงจากกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและรายได้จากการลงทุนในธุรกิจสัมปทานโครงสร้างพื้นฐานผ่านบริษัทในเครือ เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้แก่บริษัท
ขณะเดียวกันบริษัทยังมุ่งสนับสนุนการดำเนินโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ กิจกรรม CSR ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม ทั้งการใช้ศักยภาพด้านงานช่างและวิศวกรรมในการสร้างสรรค์กิจกรรม และการสนับสนุนทุนทรัพยด้านต่างๆ รวมทั้งมีการปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อมในการปฏิบัติงานเพื่อลดผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจซึ่งจะเห็นได้ว่าการดำเนินเนินธุรกิจของช.การช่างนั้นล้วนมุ่งไปสู่การสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ชุมชนและประเทศชาติ เกิดการเติมเต็มวงจรแห่งความยั่งยืนในทุกมิติธุรกิจอย่างแท้จริง