กระตุ้นสังคมไทยชัวร์ก่อนแชร์
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อสมท กล่าวว่า บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพื่อสกัดกั้นการปล่อยข้อมูล ข่าวสาร แบบผิดๆ ออกสู่สังคม ผ่านรายการ "ชัวร์ก่อนแชร์"ที่กระตุ้นให้เกิดสังคมไทยชัวร์ก่อนแชร์ ยับยั้งไม่ให้เกิดความเชื่อหรือทำตามข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และเพื่อสานต่อความสำเร็จของรายการชัวร์ก่อนแชร์ ในปี้นี้จึงได้ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ปั้นเด็กและเยาวชนเพื่อเฝ้าระวังข่าวปลอมบนโลกออนไลน์ในโครงการ "นักสืบสายชัวร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์เยาวชน" ขึ้น เพื่อสร้างพฤติกรรมการตรวจสอบข้อมูล ให้ชัวร์ก่อนแชร์แก่เยาวชนไทยเพื่อให้เยาวชนได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในสังคม ซึ่งขณะนี้ มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ อาทิ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี),โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง,โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย, โรงเรียนวิชูทิศ, โรงเรียนถาวรานุกูล จ.สมุทรสงคราม ฯลฯ
"ทุกคนเป็นสื่อได้" แต่ข้อมูลเชื่อถือได้แค่ไหน?
อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะไม่สามารถสำเร็จได้ถ้าขาด นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผู้เชี่ยวชาญในการรู้เท่าทันสื่อและเฝ้าระวังสื่อ ที่มองว่าพฤติกรรมการบริโภคสื่อโซเซียลมีเดียของคนในสังคมมีมากขึ้น ทุกคนสามารถเป็นสื่อเองได้และส่งต่อข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว แต่อาจขาดกระบวนการคิดวิเคราะห์ อย่างรอบด้านเพื่อส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งกองทุนฯ ของเรา มีภารกิจสำคัญคือส่งเสริมให้เกิดสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัย ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนมีทักษะมีความสามารถ รู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ กล่าวสรุปได้ว่าบทบาทและภารกิจในการขับเคลื่อนงานของกองทุนฯ จึงให้ความสำคัญและส่งเสริม ให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ ฉลาดในการใช้สื่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง ชุมชน และสังคม
เด็กและเยาวชนถือเป็นกุญแจสำคัญในการรู้เท่าทันสื่อ
สำหรับขั้นตอนต่อไปของการดำเนินโครงการ "นักสืบสายชัวร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์เยาวชน" นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ หรือโย หัวหน้าทีมศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ เปิดเผยว่า จะมีการจัด Road Show ในช่วงเดือนมิถุนายนถึง สิงหาคม 2562 โดยทีมวิทยากรศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์, ทีมงานจากเพจอีจัน และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ลงพื้นที่ฝึกอบรมอย่างใกล้ชิดกับตัวแทนเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 10 โรงเรียน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยหลังจากการจัด Road Show ทาง อสมท จะผลิตรายการโทรทัศน์ รายการ "นักสืบสายชัวร์" ออกอากาศทุกวันศุกร์ เวลา 16.30-17.00 น. ทาง ช่อง 14 MCOT Family รับชมพร้อมกันทั่วประเทศเดือนมิถุนายนนี้ และรายการโทรทัศน์ "ชัวร์ก่อนแชร์เยาวชน" ออกอากาศทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 12.55-13.00 น ทางช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 เริ่มเดือนกันยายน 62
"หลายคนถามผมว่าทำไมนักสืบสายชัวร์ถึงต้องเริ่มจากเด็กและเยาวชน ผมขออธิบายว่าเด็ก และเยาวชนถือเป็นกุญแจสำคัญในการรู้เท่าทันเพราะเด็กมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีและเรียนรู้ได้ง่าย สามารถเป็น Fact Checker หรือนักตรวจสอบข้อเท็จจริงประจำบ้านเพื่อส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องให้กับคน ในครอบครัวได้ โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมให้ครอบครัวเข้มแข็ง รู้เท่าทันข้อมูลก่อนได้รับการเผยแพร่ ช่วยปลูกฝังภูมิคุ้มกันและสร้างค่านิยมให้ตระหนักถึงผลกระทบการแชร์ต่อข้อมูลเท็จ รวมถึงการ กลั่นแกล้งบนไซเบอร์"นายพีรพล เล่าถึงที่มาของโครงการฯ
"เด็กบดินทร์" เชียร์โครงการฯ ดีต้องบอกต่อ
สอดรับกับความคิดของน้องๆ นักเรียนจากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 1 ใน 10 ของโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการคัดกรองข้อมูลข่าวสาร การหาแหล่งข่าวเพื่อการตรวจสอบ ไปจนถึงเรียนรู้การผลิตสื่อให้สร้างสรรค์ ที่มองว่าโครงการ"นักสืบสายชัวร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์เยาวชน"เป็นสื่อกลางที่ดีที่จะช่วยแก้ปัญหาในการแชร์ข้อมูลผิดๆได้
"น.ส.พลอยชมพู บุญมี"นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เล่าว่า ส่วนตัวสนใจเรื่องการตรวจสอบการขายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ ที่มักจะให้ข้อมูลเกินความเป็นจริง สิ่งที่อยากแนะนำเพื่อนๆทุกคน คือเมื่อได้ข้อมูลจากโซเซียลมีเดีย อยากให้ทุกคนพิจารณาข้อมูลให้ถี่ถ้วน ตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับว่าจริงหรือไม่ เพราะการรีบร้อนที่จะแชร์ข้อมูลใดๆ ออกไป อาจจะก่อให้เกิด ความผิดพลาดครั้งใหญ่ได้
"โครงการนี้มีประโยชน์ทำให้เด็กและเยาวชนรู้จักตรวจสอบข้อมูลข่าวสารก่อนแชร์ ได้ทราบถึงกระบวนการผลิตสื่อที่ถูกต้อง ปลอดภัย ใสสะอาด และเรียนรู้ถึงการเป็นสื่อมวลชนที่ดี ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ดีที่อยากให้เพื่อนๆ เยาวชนช่วยกันบอกต่อ" น.ส.พลอยชมพู กล่าวให้ความเห็น
เดินหน้าสร้างประเทศไทยให้ "ชัวร์ก่อนแชร์"
นับเป็นจุดเริ่มต้นในการตื่นตัวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่จะต้อง "ชัวร์ก่อนแชร์"ไม่ตกเป็นเหยื่อของข้อมูลข่าวสารและเชื่อได้ว่าหลังจากที่น้องๆ นักเรียนได้เข้าร่วมโครงการ "นักสืบสายชัวร์ฯ" สังคมไทยจะได้เห็นพัฒนาการของเด็กและเยาวชน มีทักษะในการกรองข้อมูลข่าวสารก่อนแชร์ว่า "ชัวร์"หรือ"มั่ว"เพื่อเดินหน้าสร้างประเทศไทยให้เป็นสังคมที่มีแต่ข้อเท็จจริง