รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสกลนคร มทร.อีสาน กล่าวว่า มทร.อีสาน และสถาบันแคนาบินอยด์และเครือข่ายกว่า 100 คน มีความเห็นพ้องต้องกันว่าเราจะตั้งปณิธาน วางตำแหน่งร่วมกัน ในการพัฒนากัญชาเพื่อการแพทย์และการรักษาให้เป็นมาตรฐานของโลก เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาของปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษของเราให้ประจักษ์ต่อประชาคมโลก ในนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ซึ่งดูแลพื้นที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ ตาม พรบ. มทร.อีสาน 2548 เราประกาศจัดตั้งวิทยาเขตสกลนคร เกิดขึ้น 2 คณะ คือ คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี และ คณะทรัพยากรธรรมชาติ เราวางศิลาฤกษ์โดยหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เป็นประวัติศาสตร์ของเราชาวสกลนคร เรามีการจัดการเรียนการสอนครบทั้งกลุ่มสาขาวิชาต้นทางหรือผู้ผลิต เรามีหลักสูตรนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ ประกอบไปด้วย สาขาพืชศาสตร์ สัตวศาสตร์ และประมง ส่วนกลุ่มสาขาวิชากลางทางประกอบไปด้วย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (food science) ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อความงาม การบริบาลผู้สูงอายุ ที่สำคัญคือสาขาการแพทย์แผนไทย ทั้งหลักสูตร ป.ตรี และ ป.โท แพทย์แผนไทยมหาบัณฑิต ส่วนปลายทางเรามีการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรวิศวกรรม ฟาร์มอัจฉริยะ (Smart farm) การขนส่ง (Logistic) เทคโนโลยี ไอทีและ บริหารธุรกิจ
อนึ่ง สภามหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้วิทยาเขตสกลนคร เป็นหลักในเรื่องอาหารและสุขภาพ (food and health) เราจึงมุ่งเน้นเรื่องอาหาร เครื่องดื่ม และการดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาไทย ดังนั้นตามธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2548 จึงเกิดสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยและ หลังจากนั้นจึงดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยสกลนคร หลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท ที่สามารถ ปฏิบัติงานได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ตามธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2548 หลังจากนั้นเราก็ได้ทำงานร่วมกับอโรคยาสาร วัดคำประมง โดยหลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม ซึ่งท่านได้รับดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แพทย์แผนไทยของเราและมาร่วมพัฒนาการแพทย์แผนไทย เราได้ทำงานร่วมกับวัดคำประมงภายใต้ดำริของหลวงตา โดยเฉพาะเรื่องกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งหลวงตาตระหนักในการช่วยมวลมนุษยชาติให้เข้าถึงยา โดยเฉพาะตำรับยารักษาโรคมะเร็ง
ดังนั้น เมื่อ พรบ.ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7 พุทธศักราช 2562 เกิดขึ้น มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร จึงมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการพัฒนาร่วมกับเครือข่ายทุกเครือข่ายที่อยากพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ทางด้านกัญชาทางการแพทย์เพื่อการรักษาโรค และผมได้รายงานต่อสภา มทร.อีสาน โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. สุรเกียรติ เสถียรไทย เราจะทำเรื่องศูนย์กลางทางการแพทย์ และวัตถุดิบสมุนไพรที่สามารถใช้ได้ในระยะยาว โดยจะผลิตวัตถุดิบทุกตัวที่อยู่ใน 16 ตำรับ ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ จำนวน 92 ชนิด ให้ได้มาตรฐานโลกด้วยเช่นกัน เราต้องรักษาและบริการด้วยการแพทย์แผนไทย และคนไทยต้องเข้าถึงตำรับยานี้ด้วย นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค จะต้องเกิดขึ้นอย่างอย่างเป็นรูปธรรม และผมต้องขอขอบพระคุณทุกท่าน ทุกเครือข่ายที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจและจริงใจร่วมกับ มทร.อีสาน พัฒนาโมเดลกัญชาทางการแพทย์ เพื่อการพัฒนาประเทศไทยของเราต่อไป
แพทย์หญิงอรพรรณ เมธาดิลกกุล ผู้อำนวยการสถาบันแคนาบินอยด์แห่งสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถาบันแคนาบินอยด์แห่งสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพึ่งพาตนเองในด้านการรักษาโรคต่างๆ ด้วยยาที่มาจากทรัพยากรของประเทศไทยเราเอง และเรามีความตั้งใจที่จะนำยาดังกล่าวตอบแทนสู่พี่น้องคนไทย พร้อมทั้งนำรายได้มหาศาลกลับเข้ามาบนผืนแผ่นดินไทย
แต่เดิมสมาคมฯ จะมีกิจกรรมสำคัญคือการส่งเสริมวิชาการเพื่อการตรวจวินิจฉัยและกำจัดสารพิษออกจากร่างกายของผู้ป่วย นั่นคืออดีตของเรา ในขณะที่การจัดการเรียนการสอนของแพทย์เราจะเน้นหนักเรื่องโครงสร้าง เช่น หมอศีรษะ หมอแขน หมอหัวใจ จะไม่มีการเข้าใจภาพรวมของตัวผู้ป่วยเป็นรายๆ เราเห็นถึงข้อบกพร่องเหล่านั้น จึงทำให้เราใส่ใจสาเหตุของการเกิดโรคอันเนื่องมาจากการได้รับพิษและจะรักษากันอย่างไร สมาคมได้จัดทำตำราที่เกี่ยวข้องกับแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงหลักสูตรอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ จวบจนถึงปัจจุบันที่พบว่า ประเทศไทยมีสิ่งที่มีคุณค่าอย่างมาก และเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก นั่นคือกัญชา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ค้นพบแล้วว่ามีสารออกฤทธิ์ที่มีผลต่อสุขภาพ ทั้งในทางบวกและทางลบ จึงจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการทางวิชาการเข้ามาบริหารจัดการ เพราะเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของสาธารณะยิ่งจำเป็นที่ต้องมีกฏหมายเข้ามาเป็นตัวเชื่อมประสาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะต่อคนในประเทศไทย และคนทั่วโลก
ในด้านกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น ขณะนี้กัญชา ยังอยู่ใน พรบ.ยาเสพติดให้โทษปี 2522 ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ เพียงแต่มีการแก้ไขฉบับที่ 7 โดยเพิ่มคำว่าสามารถให้ใช้ทางการแพทย์และการวิจัยได้ นี่คือสิ่งที่ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ประเทศไทย ได้มีการวางตำแหน่งของกัญชาได้ถูกทิศถูกทางแล้ว สมาคมฯ จะเน้นเรื่องการช่วยเหลือประชาชนด้วยการจัดทำข้อเสนอโครงการต่อรัฐ ด้านวิชาการและกระตุ้นให้เกิดการปรับแก้กฏหมายทั้งในกฏหมายหลักและกฏหมายรอง สิ่งที่เราทำต่อเนื่อง เชื่อมประสานทั้งกฎกระทรวงและกฎประกาศต่างๆ เราพยายามเกาะติดงานให้ดี 9 เดือนที่ผ่านมาเราได้เข้าพบผู้ตัดสินใจทั้งหมดมาแล้ว จึงเกิดเป็นนโยบายลงมาอย่างที่ทุกท่านได้เห็นตามสื่อต่างๆ และหน่วยราชการก็หันมาฟอร์มกฎหมายที่เราไปด้วยกันได้ เรามุ่งหมายที่จะสร้างมาตรฐานอาหารและยาจากพืชกัญชาไทย ในเวทีโลก คือในประเทศใช้แต่ไม่นำเข้า แต่เวทีโลกเราจะเป็นหนึ่งด้วยมาตรฐาน เราต้องการสร้างมาตรฐานกระบวนการทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกัญชา ตั้งแต่ต้น คือ การคัดเลือกสายพันธุ์ การผลิตเมล็ดพันธ์ การหาลักษณะตามสภาพแวดล้อมและการแสดงออกทางพันธุกรรม (Phenotype) ชุดยีนควบคุมลักษณะทางพันธุกรรม (Genotype) และการวิเคราะห์สารสำคัญ ตลอดจนถึงการผลิตเป็นยาในรูปแบบยาทุกชนิดหรืออาหารทุกประเภท แต่ต้องให้มีภาพลักษณ์ที่ดีควบคู่กับการมุ่งเน้นด้านคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีต่างๆ ที่เอื้ออำนวยมากขึ้น ทำให้เรายิ่งต้องใส่ใจในคุณภาพ ซึ่งสมาคมเรามุ่งหมายให้แพทย์ทุกศาสตร์ทำงานร่วมกันในการดูแลผู้ป่วยของเราอย่างดีที่สุด และหวังมากกว่านั้นคืออยากให้คนไทยมีความรู้เรื่องกัญชาอย่างละเอียดตั้งแต่เด็กจนถึงคนแก่ และเราสามารถพึ่งตนเองได้ ป่วยให้น้อยที่สุด และเมื่อจำเป็นต้องใช้ยากัญชาใช้ให้ตรงจุดที่สุด ยาจึงจะมีประสิทธิภาพสูงที่สุด และสมาคมไม่สนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อการรื่นเริงเกินจำเป็น และขอเริ่มที่ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ที่แรกค่ะ