สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย 5 เหตุผลที่ไม่รับผู้พิการทางสายตาเข้าเรียนหรือทำงาน

ศุกร์ ๐๓ พฤษภาคม ๒๐๑๙ ๑๕:๕๙
ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) เผยผลการสำรวจ "ทัศนคติของประชาชนทั่วไปต่อผู้พิการทางสายตากับการอยู่ร่วมกันในสังคม" โดยสำรวจระหว่างวันที่ 25 ถึง 30 เมษายน พ.ศ. 2562 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,102 คน

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ประเทศไทยมีจำนวนผู้พิการทางสายตาเฉพาะที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ 181,821 คน แต่มีการประมาณการว่าทั่วประเทศมีผู้พิการทางสายตาที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการอีกอย่างน้อย 100,000 คน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการจัดตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 ภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อจัดการศึกษาให้กับผู้พิการทางสายตา และนำความรู้ความสามารถไปประกอบอาชีพเพื่อให้อยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมได้โดยไม่เป็นภาระต่อไป

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในปัจจุบันมีการจัดตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดในทุกภูมิภาคของประเทศภายใต้การดำเนินงานของหลายหน่วยงาน ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มีการออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตสำหรับผู้พิการ ซึ่งรวมถึงผู้พิการทางสายตา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา การประกอบอาชีพ และการได้รับสวัสดิการต่างๆ แต่มีผู้พิการทางสายตาไม่ถึง 30% ที่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษา และมีผู้พิการทางสายตาเพียง 5% ที่ได้รับโอกาสในการประกอบอาชีพ มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวรวมทั้งมีความพร้อมที่จะร่วมพัฒนาสังคมในฐานะทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ

โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้พิการทางสายตายังไม่ได้รับโอกาสด้านการศึกษาและด้านการประกอบอาชีพเท่าที่ควรนั้นเกิดจากผู้คนในสังคมยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะความสามารถและศักยภาพของผู้พิการทางสายตา ประกอบกับสถานศึกษาและองค์กรรวมถึงสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการทางสายตาอย่างเหมาะสม

ดังนั้น เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปีการศึกษาคนตาบอดไทย และครบรอบ 80 ปีมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) ร่วมกับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดทำการสำรวจทัศนคติของประชาชนทั่วไปต่อผู้พิการทางสายตากับการอยู่ร่วมกันในสังคม

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.73 และเพศชายร้อยละ 49.27 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ สำหรับความรู้สึกเมื่อพบเห็นผู้พิการทางสายตา กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.95 ระบุว่าตนเองรู้สึกเวทนาสงสารเป็นอันดับแรก รองลงมามีความรู้สึกเศร้าใจเป็นอันดับแรกคิดเป็นร้อยละ 19.6 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.7 ร้อยละ 11.16 ร้อยละ 10.34 และร้อยละ 8.08 รู้สึกชื่นชมยกย่อง รู้สึกตื่นเต้น รู้สึกเฉยๆ และรู้สึกแปลกใจเป็นอันดับแรกตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.26 รู้สึกตกใจเป็นอันดับแรก และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 1.91 มีความรู้สึกอื่นๆ

ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงผู้พิการทางสายตา อาชีพที่กลุ่มตัวอย่างนึกถึงมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ ขายสลากกินแบ่งคิดเป็นร้อยละ 88.11 ร้องเพลง/เล่นดนตรีคิดเป็นร้อยละ 86.48 หมอนวดแผนโบราณคิดเป็นร้อยละ 84.21 ครูอาจารย์คิดเป็นร้อยละ 82.3 และพนักงานรับโทรศัพท์คิดเป็นร้อยละ 79.85

ในด้านความเชื่อและความสงสัยในการทำกิจกรรมต่างๆ ของผู้พิการทางสายตานั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.08 ยอมรับว่าตนเองไม่เชื่อว่าผู้พิการทางสายตาสามารถหุงข้าว ทำอาหาร ซักผ้า/รีดผ้า เย็บปักถักร้อย กวาดบ้าน/ถูบ้าน ได้ด้วยตนเอง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.76 เชื่อ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.16 ไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.6 เคยสงสัยว่าผู้พิการทางสายตาอ่านเขียนหนังสือ ดูนาฬิกาข้อมือ ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ใช้งานคอมพิวเตอร์ เล่นอินเทอร์เน็ต เล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้อย่างไร ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.14 ระบุว่าตนเองไม่เคยสงสัย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.26 ไม่แน่ใจ

ส่วนพฤติกรรมการเข้าไปสอบถามให้ความช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาในสถานที่สาธารณะนั้น เมื่อพบเห็นผู้พิการทางสายตากำลังจะข้ามถนน/สะพานลอย ขึ้น-ลงบันไดเลื่อน/ลิฟต์/รถโดยสาร/รถไฟฟ้า เดินอยู่บนบาทวิถี/ภายในบริเวณอาคารสถานที่สาธารณะตามลำพัง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.81 ระบุว่าตนเองจะยืนดูสักพักก่อนเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.29 ระบุว่าตนเองจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือทันที โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 2.9 ยอมรับว่าจะไม่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ส่วนเมื่อพบเห็นผู้พิการทางสายตากำลังยืน/นั่งอยู่ในบริเวณอาคารสถานที่สาธารณะตามลำพัง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 58.35 ระบุว่าตนเองจะยืนดูสักพักก่อนเข้าไปสอบถามเพื่อให้ความช่วยเหลือ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.02 ระบุว่าตนเองจะเข้าไปสอบถามเพื่อให้ความช่วยเหลือทันที โดยที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 3.63 ยอมรับว่าจะไม่เข้าไปสอบถามเพื่อให้ความช่วยเหลือ

ในด้านความคิดเห็น ความรู้สึก และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือ/อำนวยความสะดวกผู้พิการทางสายตานั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.07 ยอมรับว่ารู้สึกกังวลว่าหากตนเองเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาข้ามถนน/สะพานลอย ขึ้น-ลงบันไดเลื่อน/ลิฟต์/รถโดยสาร/รถไฟฟ้า จะส่งผลให้เกิดอันตรายกับตนเองหรือผู้พิการทางสายตา ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 64.25 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันหน่วยงาน/อาคาร/สถานที่ต่างๆส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญกับการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการทางสายตา นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 78.13 ยอมรับว่าตนเองยังไม่มีความเข้าใจ-รับรู้เกี่ยวกับวิธีการช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาดีพอ และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 70.69 ยอมรับว่าตนเองยังไม่มีความเข้าใจ-รับรู้เกี่ยวกับศักยภาพ/ความสามารถในด้านการเรียน/การทำงานของผู้พิการทางสายตาดีพอ

สำหรับปัจจัยสำคัญสูงสุด 5 ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการรับผู้พิการทางสายตาเข้าเรียนในสถานศึกษาหรือเข้าทำงานในหน่วยงานภาครัฐ/เอกชนคือ ขาดความเชื่อมั่นต่อศักยภาพและความสามารถคิดเป็นร้อยละ 86.3 ไม่ทราบทักษะความรู้ความสามารถคิดเป็นร้อยละ 84.39 ขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแลช่วยเหลือคิดเป็นร้อยละ 83.3 ตำแหน่งงาน/หลักสูตรไม่เหมาะสมคิดเป็นร้อยละ 81.85 และไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมคิดเป็นร้อยละ 79.31

และในด้านความคิดเห็นต่อการอยู่ร่วมในสังคมของผู้พิการทางสายตานั้น กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.52 เชื่อว่าผู้พิการทางสายตามีความสามารถ-ศักยภาพในการเรียน/ทำงานได้ไม่ด้อยไปกว่าคนปกติทั่วไป และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76.95 เห็นด้วยว่าหากผู้พิการทางสายตาได้รับการพัฒนาด้านการศึกษา/ทักษะความรู้ในการดำรงชีวิตด้านต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้ผู้พิการทางสายตากลายเป็นบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version