1. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาค ที่ประชุมได้รับทราบรายงานเศรษฐกิจจากผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ซึ่งเห็นพ้องว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2562 ยังคงสามารถขยายตัวได้ แม้ว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 ที่ขยายตัวมากขึ้นจะช่วยรองรับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกได้ อย่างไรก็ดี ควรเตรียมความพร้อมรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และใช้นโยบายการเงินและการคลังเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนในปีนี้ ตลอดจนควรดำเนินนโยบายเพื่อจัดการกับความท้าทายระยะยาว เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในหลายประเทศ โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอ (Infrastructure Gaps) เป็นต้น
2. สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3 (AMRO) ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามภารกิจหลักของ AMRO ได้แก่ การเฝ้าระวังเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 การสนับสนุนการดำเนินการภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) และการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการกับประเทศสมาชิกอาเซียน+3 รวมทั้งได้รับทราบการแต่งตั้งผู้อำนวยการ AMRO คนใหม่ คือ นาย Toshinori Doi จากประเทศญี่ปุ่นที่จะเข้ารับตำแหน่งแทนผู้อำนวยการ AMRO คนปัจจุบัน (นาง Juhong Chang) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่กำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 26 พฤษภาคม 2562
3. มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (CMIM) ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างความตกลงสุดท้ายของความตกลง CMIM ฉบับปรับปรุง โดยสาระสำคัญส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขปรับปรุงกลไก CMIM กรณีที่เป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินร่วมกับ IMF เพื่อให้สอดคล้องกันและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าแผนการทดสอบการทำงานของกลไก CMIM ครั้งที่ 10 ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่มีการทดลองเบิกถอนและเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือจริง รวมทั้งได้ให้ความเห็นชอบเอกสาร "แนวทางการดำเนินการทั่วไปเกี่ยวกับการสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นใน CMIM" (General Guidance on Local Currency Contribution to the CMIM) ที่มีเนื้อหาครอบคลุมหลักการอย่างกว้างของการสมทบเงินสกุลท้องถิ่นใน CMIM เช่น ต้องเป็นไปตามหลักความสมัครใจ เป็นต้น
4. มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการดำเนินงานระยะกลางฉบับใหม่ของ ABMI สำหรับปี 2562-2565 (ABMI Mid-Term Road Map 2019-2022) และได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการของ ABMI เพื่อส่งเสริมตลาดพันธบัตรสกุล
เงินท้องถิ่นทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เกี่ยวข้อง รวมถึงโครงการให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการแก่ประเทศสมาชิก
5. ทิศทางการดำเนินการในอนาคตของกรอบความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปีของกรอบความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบเอกสารวิสัยทัศน์ "Strategic Directions of ASEAN+3 Finance Process" ซึ่งกำหนดทิศทางการดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือ ASEAN+3 Finance Process ที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาค ในอีก 10 ปีข้างหน้าด้วย
ทั้งนี้ ผลการประชุม AFMGM+3 สะท้อนให้เห็นถึงความคืบหน้าของการดำเนินการทางการเงิน ของอาเซียน+3 และแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านต่าง ๆ อาทิ แนวทางการดำเนินการทั่วไปเกี่ยวกับ การสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นใน CMIM การพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 เป็นต้น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินรวมทั้งเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน ของภูมิภาคอาเซียน+3 ต่อไป