สำหรับปีนี้ ประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ในฐานะประธานอาเซียน ได้รับเชิญจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งเจ้าภาพการจัดงาน เพื่อร่วมกันสร้างเศรษฐกิจและเสถียรภาพ เพิ่มความแข็งแกร่งของโครงสร้างทางการเงิน และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งในส่วนของภาคเกษตร จะมีการรับรองปฏิญญารัฐมนตรีเกษตรของกลุ่ม 20 ซึ่งประกอบด้วย 3 หัวข้อหลัก คือ 1) นวัตกรรมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคเกษตรและอาหาร 2) การมุ่งเน้นห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารต่อการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน (Food Value Chains: FVCs) ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่จะสามารถสร้างความเข้มแข็ง และยั่งยืน เนื่องจากการบริหารจัดการที่ดีของ FVC จะช่วยเพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่ (ทั้งการผลิต การแปรรูป การจัดจำหน่าย และอื่นๆ) รวมทั้งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่มูลค่าอาหาร ซึ่งเป็นการแบ่งปันผลประโยชน์ให้เหมาะสมเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และ 3) การประสานความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาความท้าทายระดับโลก ซึ่งจะต้องมีการประสานความร่วมมือในประเด็นเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายและมุ่งสู่การบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SGDs) อันเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาของโลก
นอกจากนี้ ไทยจะนำเสนอถึงผลสำเร็จของดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึง ช่วยกระจายรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมไปถึงการใช้แนวทางตลาดนำการผลิต ซึ่งเป็นแนวคิดด้านการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบใหม่ ช่วยให้ปริมาณการผลิตและความต้องการสินค้าเกษตรเกิดความสมดุลกัน โดยเกษตรกรเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สหกรณ์การเกษตร และผู้ค้าร่วมกัน พร้อมนี้ ไทยจะได้ร่วมประชุมหารือระดับทวิภาคีกับกลุ่มประเทศ G20 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร อาทิ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ต่อภาคเกษตร การป้องกันศัตรูพืช และโรคระบาดในปศุสัตว์ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเกษตรในยุคดิจิทัล
ด้านนายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเสริมว่า หากมองถึงสถานการณ์การค้าของกลุ่มประเทศ G20 ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557 - 2561) กลุ่มประเทศ G20 มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร เฉลี่ย 2.57 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 76 ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของโลก) โดยแบ่งเป็น มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร 1.29 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 77 ของมูลค่าการค้าส่งออกสินค้าเกษตรของโลก) ซึ่งประเทศส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (สัดส่วนร้อยละ 9.4) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 6.3) เยอรมนี (ร้อยละ 6.1) จีน (ร้อยละ 5.5) และ บราซิล (ร้อยละ 4.7) และเป็นมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตร 1.28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 75 ของมูลค่านำเข้าสินค้าเกษตรของโลก) ประเทศนำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (สัดส่วนร้อยละ 10.3) จีน (ร้อยละ 7.5) เยอรมนี (ร้อยละ 6.9) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 4.31) และเนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 4.27) ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย มีการค้าสินค้าเกษตรกับ G20 ช่วงระยะเวลา 5 ปี (ปี 2557 - 2561) เฉลี่ย 0.04 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 67 ของมูลค่าการค้าโลก) แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 0.03 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่านำเข้า 0.01 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ