พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2562 ทำขวัญธัญญาหารพืชพันธุ์ มอบความเชื่อมั่นสู่เกษตรกรไทย

พฤหัส ๐๙ พฤษภาคม ๒๐๑๙ ๐๙:๒๑
วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2562 เวลาประมาณ 08.30 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โดยรถยนต์พระที่นั่งมายังพลับพลาที่ประทับ ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2562 ฤกษ์พิธีไถหว่าน ระหว่างเวลา 08.29 – 08.49 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งเป็นการประกอบพระราชพิธีวันแรกที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2562 และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ โดยประกอบพระราชพิธีในวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2562 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ทั้งนี้ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการซึ่งกระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและส่งเสริม บำรุงขวัญเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปีอันถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นฤดูกาลแห่งการทำนา

การจัดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีนี้ ฤกษ์การไถหว่านอยู่ระหว่างช่วงเวลา 08.29 – 08.49 น. ผู้ทำหน้าที่เป็นพระยาแรกนาปี 2562 คือ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวกันยารัตน์ นาคกูล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวดวงพร งามประดิษฐ์ นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ กรมวิชาการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวณัฐชยา ศรีสุขสวัสดิ์ นักวิชาการปฏิรูปที่ดินชำนาญการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นางสาวอาทิตยา ทองแกมแก้ว นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร คู่เคียงมีจำนวน 16 ราย และผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล โดยพระโคเพิ่ม มีความสูง 159 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 230 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 201 เซนติเมตร อายุ 9 ปี ส่วนพระโคพูล มีความสูง 157 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 238 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 205 เซนติเมตร อายุ 9 ปี พระโคสำรอง ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง

ในวันประกอบพระราชพิธีนั้น จะได้มีการพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ พระยาแรกนาได้ตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงทายหยิบผ้านุ่งแต่งกาย ซึ่งแต่ละผืนล้วนมีความหมายแตกต่างกันออกไป ได้แก่ หากหยิบได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ หยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี หยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่ม จะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่

ในการนี้ นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ถวายรายงานการพยากรณ์ เสี่ยงทายผ้านุ่งของพระยาแรกนา และพระโคกินเลี้ยง

นอกจากนี้พราหมณ์จะเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโค ซึ่งผลเสี่ยงทาย คือ หากพระโคกิน ข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี พระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี พระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี และหากพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

อนึ่ง วันพระราชพิธีพืชมงคลนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้เป็น "วันเกษตรกร" ประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดให้มีการคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2562 เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีรายชื่อดังนี้

เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2562 จำนวน 16 สาขาอาชีพ คือ

1) อาชีพทำนา ได้แก่ นายขวัญชัย แตงทอง จังหวัดชัยนาท

2) อาชีพทำสวน ได้แก่ นายเรือง ศรีนาราง จังหวัดตราด

3) อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายชัยยศ ตั้งนิยม จังหวัดกำแพงเพชร

4) อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นางสำรวย บางสร้อย จังหวัดร้อยเอ็ด

5) อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นางโยธกา บุญมาก จังหวัดสุรินทร์

6) อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายชลอ เหลือบุญเลิศ จังหวัดชุมพร

7) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายไมตรี แย้มบางยาง จังหวัดสุพรรณบุรี

8) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายโกศล หนูกลิ่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี

9) อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายวุฒิไกร ช่างเหล็ก จังหวัดหนองคาย

10) อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายคำนึง เจริญศิริ จังหวัดบุรีรัมย์

11) สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นายภูดิศ หาญสวัสดิ์ จังหวัดขอนแก่น

12) สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายสุริยา หงษ์ลอยวงษ์ จังหวัดยโสธร

13) สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช ได้แก่ นางอัมพร สวัสดิ์สุข จังหวัดนครศรีธรรมราช

14) ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายสมเกียรติ แซ่เต็ง จังหวัดตราด

15) สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายฉัตรชัย ดอยพนาวัลย์ จังหวัดลำพูน

16) สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ นายรัฐไท พงษ์ศักดิ์ จังหวัดจันทบุรี

สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2562 จำนวน 12 กลุ่ม คือ

1) กลุ่มเกษตรกรนา ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำนาเทพนคร จังหวัดกำแพงเพชร

2) กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านนาปรังพัฒนา จังหวัดสงขลา

3) กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์หนองขาม จังหวัดชัยภูมิ

4) กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้านบ้านในถุ้ง จังหวัดนครศรีธรรมราช

5) กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปปลาสมุนไพรบ้านห้วยบง กลุ่ม ๓ จังหวัดหนองบัวลำภู

6) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น

7) กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จังหวัดตราด

8) กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านทุ่งรวงทอง จังหวัดกำแพงเพชร

9) สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานรวมใจพัฒนา เมืองสามน้ำแพรกหนามแดง จังหวัดสมุทรสงคราม

10) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเขียบ จังหวัดมหาสารคาม

11) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวอื่น ๆ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลหนองฮี จังหวัดนครพนม

12) วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองสาหร่าย จังหวัดกาญจนบุรี

สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2562 จำนวน 7 สหกรณ์ คือ

1) สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรคณทฑีพัฒนา จำกัด จังหวัดกำแพงเพชร

2) สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมนครปฐม จำกัด จังหวัดนครปฐม

3) สหกรณ์นิคม ได้แก่ สหกรณ์นิคมวังไทร จำกัด จังหวัดระยอง

4) สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลพัทลุง จำกัด จังหวัดพัทลุง

5) สหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จำกัด จังหวัดนครราชสีมา

6) สหกรณ์บริการ ได้แก่ สหกรณ์เดินรถแม่สอด จำกัด จังหวัดตาก

7) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนโพธิ์ลอยพัฒนา จำกัด จังหวัดเพชรบุรี

ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2562 จำนวน 3 สาขา คือ

1) นายสุริยะ ชูวงศ์ เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง

2) นายอาทิตย์ มติธรรม เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น

3) นายแรม เชียงกา เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ