คำถามสำคัญในการจัดสรรคลื่น 700 MHz

พฤหัส ๐๙ พฤษภาคม ๒๐๑๙ ๑๐:๑๙
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ

การผลักดันมาตรการเพื่อช่วยเหลือทีวีดิจิทัล โดยการนำคลื่น 700 MHz ไปจัดสรรให้กับค่ายมือถือพร้อมเงื่อนไขให้ผ่อนค่าคลื่น 900 MHz โดยไม่คิดดอกเบี้ยเลยนั้น อาจดูราบรื่นเพราะใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่ในคำสั่ง คสช. กำหนดให้สำนักงาน กสทช. ออกหลักเกณฑ์ต่างๆ อีกไม่น้อย ทำให้เกิดคำถามทางกฎหมายตามมาในหลายประเด็น คำถามที่น่าสนใจที่มีการหยิบยกมากล่าวถึง ได้แก่

1. "การใช้มาตรา 44 ทำให้ทุกฝ่ายไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายจริงหรือไม่" แม้คำสั่งตามมาตรา 44 จะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย แต่หลักเกณฑ์ที่ออกตามคำสั่งอาจไม่ได้รับความคุ้มครองด้วยโดยอัตโนมัติ ในกรณีที่หลักเกณฑ์ออกโดยใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ จะต้องมีผู้รับผิดทางกฎหมายหรือไม่ และแม้ว่าคำสั่ง คสช. จะให้เลขาธิการ กสทช. มีอำนาจวินิจฉัยและให้ถือเป็นที่สุด แต่มิได้หมายความว่า หากวินิจฉัยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือทำให้รัฐเสียหาย จะสามารถอ้างมาตรา 44 เป็นเกราะกำบังได้อย่างเบ็ดเสร็จ

2. "ค่ายมือถือค่ายใดมีสิทธิขอรับการจัดสรรคลื่น 700 MHz เพื่อผ่อนชำระค่าคลื่น 900 MHz" ในคำสั่ง คสช. ได้ระบุเจตนาชัดเจนว่า เพื่อจัดการปัญหาความสามารถชำระค่าคลื่นตามกำหนด และตามข้อ 5 ของคำสั่งระบุให้ผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ชำระเงินตามเงื่อนไขการประมูลเดิม แต่หากไม่สามารถชำระได้ จึงให้แจ้งสำนักงาน กสทช. ตามข้อ 6 กรณีค่ายมือถือที่ไม่มีปัญหาผลประกอบการและยังมีเงินปันผลเป็นจำนวนมาก ย่อมไม่ใช่กรณีตามข้อ 6 หากมาขอใช้สิทธิทั้งที่รู้ว่าไม่เข้าเงื่อนไข อาจเข้าข่ายการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และในกรณีที่ทำให้ผลประโยชน์ของรัฐเสียหาย ก็ย่อมต้องรับผิดทางกฎหมายต่อไป ในส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่พิจารณาให้มีการผ่อนชำระโดยไม่เข้าเงื่อนไขตามคำสั่ง ก็คงต้องรับโทษตามกฎหมายเช่นกันใช่หรือไม่ เพราะคำสั่งดังกล่าวระบุชัดเจนว่า ให้ชำระค่าคลื่นตามเดิม ยกเว้นกรณีไม่สามารถชำระได้ จึงมีสิทธิขอผ่อนผัน

3. "เอกชนที่มีเจตนาใช้สิทธิทั้งที่ไม่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายและทำให้รัฐเสียประโยชน์ ผู้บริหารจะมีความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ด้วยหรือไม่" หน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรณีการดำเนินการโดยขาดความรอบคอบ ไม่ระมัดระวัง หรือไม่ซื่อสัตย์ และไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยทำให้รัฐเสียหายจะเป็นความผิดและมีโทษประการใด และกระทบต่อภาพลักษณ์ธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนหรือไม่ รวมถึงจะกระทบต่อการดำเนินการในตลาดหลักทรัพย์และนักลงทุนหรือไม่ อย่างไร

4. "มีช่องรายการทีวีดิจิทัลใดได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่น 700 MHz ตามข้อ 12 (1) ของคำสั่งบ้าง" เนื่องจากในคำสั่งข้อ 12 กำหนดเงื่อนไขเบื้องต้นว่า ช่องรายการทีวีดิจิทัลที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าคลื่นงวดท้ายๆ และได้รับการสนับสนุนค่าเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ด้วย ต้องเป็นช่องที่ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่น 700 MHz ซึ่งจำแนกเป็น 2 ธุรกิจย่อย คือช่องรายการและผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ในกรณีที่ไม่ได้รับผลกระทบย่อมไม่ได้รับสิทธิตามข้อ 12 ใช่หรือไม่ การพยายามเหมารวมว่าทุกช่องรายการได้รับผลกระทบโดยไม่มีการพิสูจน์นั้น อาจเป็นการใช้ดุลพินิจที่ทำให้รัฐเสียหายหรือไม่ เพราะการเตรียมคลื่นย่าน 510-790 MHz เพื่อรองรับช่องรายการทีวีดิจิทัลที่ผ่านมานั้น สำนักงาน กสทช. ระบุว่ามีเป้าหมายให้รองรับได้ถึง 48 ช่องรายการ การที่จะบีบคลื่นลง 90 MHz ช่องทีวีดิจิทัลหลักที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ยังสามารถให้บริการได้ตามสิทธิเดิม ประชาชนเพียงแต่ต้องปรับจูนเครื่องรับโทรทัศน์ก็สามารถรับชมได้ตามปกติ แต่ช่องรายการที่ได้รับผลกระทบจริงคือช่องรายการที่ยังไม่เกิด อย่างเช่น ทีวีชุมชนหรือทีวีสาธารณะ

นอกจากคำถามสำคัญเหล่านี้แล้ว ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการตั้งราคาคลื่น 700 MHz ซึ่งปรากฏข่าวในสื่อมวลชนต่างๆ ว่า สำนักงาน กสทช. จะจัดสรรคลื่น 700 MHz โดยแบ่งคลื่นเป็น 3 ชุด ชุดละ 2x15 MHz ราคาชุดละประมาณ 25,000 ล้านบาท ผ่อนชำระ 10 ปีโดยไม่มีดอกเบี้ย ระยะเวลาอนุญาต 15 ปี ซึ่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้ประเมินว่า เท่ากับมูลค่าปัจจุบันเพียง 15,000 ล้านบาทเท่านั้น และไม่เหลือคลื่น 700 MHz ไว้จัดสรรให้กับรายอื่นได้อีกเลย เท่ากับเป็นการปิดกั้นการแข่งขัน

เมื่อคำนวณราคาคลื่น 25,000 ล้านบาท จะเท่ากับราคาคลื่นต่อเมกะเฮิรตซ์ต่อจำนวนประชากรเพียง 12 บาท แต่หากคำนวณที่มูลค่าปัจจุบัน 15,000 ล้านบาทจะเหลือเพียง 7 บาท ในขณะที่ราคาชนะประมูลคลื่น 700 MHz ต่อเมกะเฮิรตซ์ต่อจำนวนประชากรในอิตาลีอยู่ที่ 20 บาท ในออสเตรเลียอยู่ที่ 25 – 55 บาท ในสวีเดนประมาณ 16 บาท

ทำไมประเทศไทยจึงปล่อยให้เกิดการผูกขาดตลาดด้วยราคาคลื่นที่ต่ำจนเหลือเชื่อ ประโยชน์จากการผูกขาดตลาดจะสร้างผลตอบแทนให้กับเอกชนมหาศาล เงินค่าคลื่นที่ผ่อนให้รัฐในแต่ละปีคงจะน้อยกว่าเงินปันผลสำหรับผู้ถือหุ้นเสียอีก จึงไม่น่าแปลกใจที่สำนักงาน กสทช. จะมั่นใจว่า ค่ายมือถือหลักทั้งสามจะมาขอรับการจัดสรรคลื่น 700 MHz ในครั้งนี้

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการผูกขาดตลาด เราอาจจัดสรรคลื่นให้เป็นชุดละ 2x10 MHz ก็จะเหลือคลื่นไว้อีก 2x15 MHz สำหรับเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ และสามารถปรับราคาคลื่นต่อเมกะเฮิรตซ์ต่อจำนวนประชากรให้ใกล้เคียงกับราคาในต่างประเทศ รัฐก็จะยังคงได้เม็ดเงินจากการจัดสรรคลื่นในรอบนี้เท่าเดิม โดยที่ยังคงมีคลื่นเหลือให้จัดสรรในโอกาสต่อไป ส่วนผู้ประกอบการทั้งสามรายต่างก็มีคลื่น 900 MHz อยู่เดิม เมื่อรวมแล้วยังคงเพียงพอที่จะให้บริการได้

นอกจากนั้น การให้ผ่อนค่าคลื่นเป็นเวลานาน เท่ากับเป็นการลดราคาคลื่นตามมูลค่าปัจจุบัน ประโยชน์ที่รัฐจะได้รับก็จะลดลงไป ตามหลักการจัดสรรคลื่นแล้ว ต้องทำให้ค่าคลื่นเป็นต้นทุนจม คือการจ่ายครั้งเดียวหรือน้อยครั้งที่สุด การยืดระยะเวลาการผ่อนจะทำให้ค่าคลื่นกลายเป็นต้นทุนดำเนินการซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้บริโภครุนแรงกว่าต้นทุนจม แต่หากจะยืนยันการจัดสรรตามข่าว โดยอ้างอำนาจตามมาตรา 44 ก็จะไม่ต่างจากการใช้มาตรา 44 ในการเอื้อประโยชน์เอกชนอย่างสุดกำลังหรือไม่

ในส่วนคำถามทางกฎหมายทั้งหลายนั้น หากยังไม่มีผู้ใดตอบ ก็จะเป็นระเบิดเวลาสำหรับอนาคต เพราะการทำให้ผลประโยชน์ของรัฐเสียหายนั้น เมื่อความผิดสำเร็จก็มีอายุความอีกหลายปี หน่วยงานตรวจสอบและปกป้องผลประโยชน์ของรัฐสามารถหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาดำเนินคดีเมื่อใดก็ได้ภายในอายุความ โดยอาจเฝ้ารอเวลาของการเปลี่ยนผ่านอำนาจ ไปสู่ระบอบที่การตรวจสอบถ่วงดุลทำงานได้ตามปกติ ไม่ถูกกดทับด้วยอำนาจพิเศษ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version