ด้วยเหตุนี้เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมตามเป้าหมายของทั้งสองหน่วยงาน คณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าและมูลนิธิพุทธรักษาจึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการนี้ขึ้น ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ มูลนิธิพุทธรักษามอบทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี จำนวน อย่างน้อยจำนวน 10 ทุน ต่อปีการศึกษา เป็นเวลา 5 ปีการศึกษา แก่นักเรียนที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ประสงค์จะเข้าศึกษาต่อ ในคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมูลนิธิพุทธรักษาเป็นผู้คัดเลือกผู้รับทุนตามที่เห็นสมควร นอกจากนี้มูลนิธิพุทธรักษาจะร่วมมือกับคณะการศึกษาปฐมวัย ร่วมการจัดหาสถานศึกษาที่เปิดสอนระดับปฐมวัยที่มีคุณภาพ ตรงตามเงื่อนไขที่คณะการศึกษาปฐมวัยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกำหนด เพื่อเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติการสอนของนักศึกษาคณะการศึกษาปฐมวัย ที่สำคัญยังมีการร่วมกันดำเนินกิจกรรมทางวิชาการและกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ การสนับสนุนการเก็บข้อมูล การวิจัย และการจัดประชุมทางวิชาการ
รองศาสตราจารย์ ดร. เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยรู้สึกขอบคุณและเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ร่วมกับมูลนิธิพุทธรักษามอบทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี จำนวน อย่างน้อยจำนวน 10 ทุน ต่อปีการศึกษาทั่วประเทศไทย คณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้ามีการเรียนรู้แบบไฮสโคป ซึ่งได้รับการพิสูจน์จากงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ศาสตราจารย์ James J. Heckman จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่พบว่า การจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคปช่วยให้ผู้เรียนมีรายได้สูงกว่า ก่ออาชญากรรมและติดยาเสพติดน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่เรียนในรูปแบบปกติ และสามารถสรุปผลในเชิงเศรษฐศาสตร์ได้ว่า หลักสูตรไฮสโคปให้ผลประโยชน์ถึง 7 เท่าของต้นทุน ที่สำคัญ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้นำเอาหลักสูตรไฮสโคปมาพัฒนาและทดลองใช้ในประเทศไทยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จนมีความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคป"
"หลักสูตรไฮสโคป เน้นการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพสอนให้ครูปฐมวัยสามารถสอนเด็กโดยใช้กระบวนการ วางแผน-ลงมือทำ-ทบทวน (Plan-Do-Review) เปิดโอกาสให้เด็กได้ตัดสินใจวางแผนเอง ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้รู้จักกำหนดเป้าหมายที่แน่ชัด ทำงานอย่างเป็นระบบ ฝึกการตัดสินใจ และรู้จักอดทนรอคอย ส่วนในขั้นตอนการลงมือทำ เด็กจะได้ลงมือทำกิจกรรมผ่านสื่อ วัสดุอุปกรณ์ที่หลากหลายและเหมาะสมกับวัย ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตามความคิดของเด็กเองอย่างกระตือรือร้น ได้เรียนรู้จากสถานการณ์และเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดจนได้ใช้ความคิดในการลงมือปฏิบัติ และได้สะท้อนความคิดผ่านขั้นตอนการทบทวน โดยครูปฐมวัยสามารถให้เด็กแต่ละคนเล่าประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำทุกๆ สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารและการเป็นผู้นำ โดยครูปฐมวัยสามารถพัฒนาทักษะของตนเองและเด็กนักเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21ได้เต็มศักยภาพพร้อมสู่ไทยแลนด์5.0 ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของหลักสูตรไฮสโคป" อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวทิ้งท้าย