การประชุมได้มีการหารือถึงพัฒนาการและความเคลื่อนไหวสำคัญในการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน ของประเทศสมาชิก เช่น พฤติกรรมที่เป็นภัยกับผู้ลงทุนแต่ยังไม่ถึงระดับที่ผิดกฎหมาย โดยพบลักษณะร่วม ในหลายประเทศเกี่ยวกับการขายผลิตภัณฑ์การลงทุนต่าง ๆ ที่อาจไม่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้ลงทุน ซึ่งสมาชิกเห็นว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้กำกับดูแล และได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในแนวทางการจัดการ อาทิ การหารือร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจและการออกแนวปฏิบัติที่ดี โดยที่ประชุมเห็นควรให้มีการจัดทำการสำรวจเพื่อประเมินตนเอง (self-assessment) ในกลุ่มสมาชิก APRC เพื่อร่วมกันหาแนวทางหรือข้อสรุปที่เหมาะสม
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญ และมีเครื่องมือและแนวทางในการดำเนินการที่หลากหลาย เช่น การตรวจสอบและการบริหารความเสี่ยง และการเน้นมาตรการป้องกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุน รวมถึงการให้ความรู้ทางการเงินแก่ผู้ลงทุน อีกทั้งยังมีเวทีระหว่าง 3 หน่วยงานกำกับดูแลภายในประเทศ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และ ก.ล.ต. เพื่อความร่วมมือในการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือประเด็นสำคัญในการกำกับดูแลการซื้อขายคริปโตแอสเซท (Crypto-asset trading platform) และการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อเป็นกลไกความร่วมมือในการกำกับดูแล (supervisory cooperation) และแนวทางการจัด supervisory symposium เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติ ในการประชุม APRC ครั้งนี้ ก.ล.ต. ยังได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม ซึ่งปัจจุบันมี Mr. Jun Mizuguchi จาก Financial Services Agency of Japan เป็นประธาน ให้เป็นเจ้าภาพการประชุม APRC ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ที่ประเทศไทยอีกด้วย
IOSCO APRC มีสมาชิกประกอบด้วยหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จำนวน 31 องค์กร จาก 25 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย