โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดทำการสำรวจและศึกษาปัญหาอุปสรรค ตลอดจนการปรับตัวของ SMEs ไทย จากกลุ่มตัวอย่าง 2,400 รายทั่วประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลแก่ บสย. ในการนำผลการศึกษา และข้อเสนอแนะที่ได้ไปพัฒนาระดับนโยบาย เพื่อช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน และสนับสนุน SMEs ให้เป็นฐานที่มั่นคงของเศรษฐกิจไทย กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคการค้า บริการ ภาคการผลิต ภาคก่อสร้าง และภาคเกษตร
ผลสำรวจพบว่า ปัญหาสำคัญของ SMEs ไทย มาจาก 2 ปัจจัยคือ 1.ด้านต้นทุน และ 2.การแข่งขันที่รุนแรง โดยด้านต้นทุนมาจากต้นทุนธุรกิจและต้นทุนแฝง เช่น การติดต่อกับภาครัฐและการขอสินเชื่อ ซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยาก ขอเอกสารมาก และใช้เวลานาน รวมถึงการแข่งขันที่มาจากการเติบโตของ E-Commerce และธุรกิจขนาดใหญ่ขยายสาขา ส่วนปัจจัยภายนอกที่ทำให้การเติบโตและการปรับตัวของ SMEs มีความท้าทายมากขึ้นสำหรับ กลุ่ม SMEs เมืองรอง คือ 1.ตลาดเล็ก ทำให้ต้องแข่งขันรุนแรงกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายตัวเข้ามาในพื้นที่ 2.แรงงานขาดแคลน ซึ่งเกิดจากการย้ายถิ่นฐานไปสู่เมืองหลัก ธุรกิจขนาดใหญ่ดึงดูดแรงงาน และคนรุ่นใหม่ชอบทำงานในสำนักงาน 3.โครงสร้างพื้นฐานไม่เอื้ออำนวย ถนนชำรุด ค่าขนส่งที่แพงกว่า และ ปัญหาการเข้าถึงของอินเตอร์เน็ตไม่ครอบคลุม
ทั้งนี้ ธปท.ได้เสนอ 3 แนวทางการส่งเสริม SMEs ให้มีศักยภาพ ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อกับ บสย. ได้แก่ 1.การกำหนดเป้าหมายหลักและรองให้ชัดเจน เช่น กลุ่มสตาร์ทอัพ กลุ่มไมโคร SMEs บัญชีเดียว อุตสาหกรรม S-Curve ซัพพลายเชนและกลุ่ม SMEs ไฮเทค 2.เพิ่มเกณฑ์คัดกรองความเสี่ยงของ SMEs โดยพิจารณาศักยภาพการดำเนินธุรกิจควบคู่กับระดับการปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ การเพิ่มมิติการประเมินความเสี่ยงให้ครอบคลุมปัจจัยภายใน และภายนอกที่กระทบการดำเนินธุรกิจของ SMEs ในแต่ละอุตสาหกรรม 3.การทบทวนสัดส่วนและวงเงินค้ำประกันสำหรับ SMEs ที่มีศักยภาพและกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง