นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า "สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park ตระหนักดีถึงความสำคัญของการอ่าน การคิด และการแสวงหาความรู้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยริเริ่มและดำเนินโครงการลับสมอง ประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทานอย่างต่อเนื่องทุกๆปี ตลอดระยะเวลาการจัดโครงการฯ ยาวนานถึง 14 ปีได้พิสูจน์ความมุ่งมั่นของเราในการส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย อันเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ TK park ให้ความสำคัญเสมอมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการประกวด แต่คือการเปิดโลกการเรียนรู้ของเด็ก จากการฟัง สู่การอ่าน การทำความเข้าใจ และการสื่อสารเรื่องราวเหล่านั้นสู่ผู้คน ผมเชื่อมั่นว่าทักษะเหล่านี้เองจะต่อยอดการเรียนรู้ของเด็กให้ดีขึ้นในทุกๆ ด้านและนำไปพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต"
นางสุธาทิพ ธัชยพงษ์ ประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ให้มุมมองในการส่งเสริมการอ่านผ่านโครงการฯประกวดครั้งนี้ ว่า "การเรียนรู้เรื่องภาษาของเด็ก คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน ตามลำดับ เด็กที่ได้ฟังผู้ใหญ่อ่านหนังสือภาพอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ขวบปีแรก จะพูดและอ่านหนังสือได้ดี และสามารถส่งต่อความสนุกและความสุขจากหนังสือผ่านการเล่าได้อย่างมั่นใจ"
ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวถึงแนวคิดของการประกวดโครงการฯครั้งนี้ คือ "เล่านิทาน อ่านความคิด รู้ทันชีวิต" ซึ่งต้องการสะท้อนให้เห็นว่าการที่พ่อแม่ ผู้ปกครองเล่านิทานให้ลูกฟังตั้งแต่เล็ก จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการอย่างรอบด้าน ฝึกกระบวนการคิดทั้งการรับข้อมูลจากการฟัง จนถึงการพยายามถ่ายทอดข้อมูลที่ต้องผ่านกระบวนการคิด และนำไปสู่การเล่านิทานด้วยตัวเอง เหมือนเป็นการอ่านชีวิต เด็กที่ได้ฟัง พูด อ่าน และเล่านิทานที่ดี จะมีโอกาสพัฒนาทักษะพื้นฐานที่ดี คิดได้ คิดเป็น เรียนรู้ได้ไว และสุดท้ายจะนำไปสู่การรู้จักใช้ชีวิต รู้ทันชีวิต"
ทางด้านนายวันชัย บุญประชา กรรมการ บริษัท ทำมาปัน จำกัด กล่าวในฐานะภาคีเครือข่ายใหม่ ที่ร่วมสนับสนุนโครงการฯ ครั้งนี้ว่า "การเปิดพื้นที่เรียนรู้และได้แสดงความสามารถให้กับเด็ก ๆ มาอย่างต่อเนื่องจนถึง 14 ครั้งนี้ ต้องขอบคุณผู้ใหญ่ที่มีหัวใจดี ที่ยังคงมุ่งมั่นในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เด็กไทยเราให้เติบโตมาเป็นคนที่มีคุณค่า ในสังคม กว่าเด็กจะมายืนเล่านิทานให้พวกเราฟังได้ ต้องผ่านการอ่าน การตีความ เข้าใจเนื้อหา เข้าถึงจินตนาการในนิทาน และยังต้องเล่าออกมาด้วยเสียงที่สดใส เสริมใส่น้ำเสียงตามจินตนาการของเด็ก ๆ เข้าไป เป็นกระบวนการพัฒนาเด็กที่ดีมาก ส่วนผมเองทำงานด้านการผลิตสื่อเสียงสำหรับเด็กและครอบครัว ก็จะถือโอกาสนี้มาเป็นแมวมองค้นหาเด็กๆ นักเล่านิทาน เพื่อมาเป็นนักสื่อเสียงสร้างความสุขให้กับคนในสังคมต่อไปครับ"
นางสาวกนกอร ศักดาเดช ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ กล่าวว่า หอสมุดแห่งชาติให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอ่านและเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการฯ นี้ เนื่องจาก "หอสมุดแห่งชาติให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอ่านของคนทุกช่วงวัย การอ่านเป็นเรื่องสำคัญที่ควรสนับสนุนส่งเสริม การอ่านเป็นการสร้างฐานทางปัญญาที่เข้มแข็งและสร้างแรงบันดาลใจได้หลากหลายตามความสนใจของแต่ละบุคคล "การเลือกอ่านในสิ่งที่ชอบ จะได้คำตอบในสิ่งที่ใช่"
โครงการ ลับสมอง ประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน ครั้งที่ 14 นี้ เป็นการประกวด เล่านิทานประเภทเดี่ยวแบ่งเป็น 2 ระดับอายุ คือ ระดับอายุ 4 - 6 ปี และ 6 - 9 ปี โดยจัดประกวด รอบคัดเลือกส่วนกลางที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ (เชียงใหม่) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น) และภาคใต้ (นครศรีธรรมราช) ส่วนรอบชิงชนะเลิศ จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ
ในโอกาสนี้ ขอเชิญชวนเด็ก ๆ ที่รักการอ่านทั่วประเทศ มาร่วมประกวดเพื่อแสดงความสามารถ ด้านการเล่านิทานที่สดใส สมวัย เพื่อเฟ้นหายอดหนูน้อยนักเล่านิทานอย่างเป็นธรรมชาติ "ผู้ชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัล ทุนการศึกษา เกียรติบัตร และของรางวัลอีกมากมาย ร่วมเดินทางไปทัศนศึกษากับกิจกรรมเสริมสร้างทักษะชีวิต"