สวทช. พร้อมหน่วยงานพันธมิตร ต้อนรับเยาวชนคนเก่ง จากเวทีประกวดโครงงานวิทย์ฯ อินเทล ไอเซฟ 2019

อังคาร ๒๑ พฤษภาคม ๒๐๑๙ ๑๐:๐๖
ผู้บริหารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และ นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานพันธมิตร ให้การต้อนรับและแสดงความยินดีแก่ 41 เยาวชนไทยที่เดินทางกลับประเทศไทยจากการเข้าร่วมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ในเวที Intel International Science and Engineering Fair ครั้งที่ 70 (Intel ISEF 2019) ที่เมืองฟีนิกส์ มลรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมกับผลงานน่าประทับใจคว้า 5 รางวัลใหญ่ Grand Awards สาขาเคมี ซอฟต์แวร์ พืช และพลังงานกายภาพ และรางวัลพิเศษอีก 3 รางวัล สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย ตอบสนองนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ฯ ที่จะร่วมผลักดันวงการวิทยาศาสตร์ไทยให้เกิดขึ้นในประเทศไทยมากขึ้นด้วยตนเอง และก้าวสู่ Thailand 4.0

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุว่า ในฐานะหน่วยงานวิจัย รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะมีน้องๆ รุ่นใหม่ที่สนใจทางด้านวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ สวทช. ที่จะร่วมกันผลักดันวงการวิทยาศาสตร์ไทยให้เกิดขึ้นในประเทศไทยมากขึ้น ตอบสนองนโยบายที่เราจะพัฒนาวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมด้วยตนเอง และก้าวไปสู่ Thailand 4.0 โดยงานนี้ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้ฟูมฟักมานาน ตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมา ในการจัดการแข่งขันระดับประเทศ คือ การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) ซึ่งหลังได้ทีมชนะเลิศจาก YSC2019 เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยแล้ว และยังไปคว้ารางวัลระดับนานาชาติ บอกให้ประชาคมโลกได้รับรู้ว่า เด็กไทยมีความสามารถ ไม่ด้อยกว่าประเทศใดๆ และจุดนี้ อยากให้น้องๆ มีความมั่นใจและช่วยกันต่อไป โดยพี่ๆ ที่ได้รับรางวัลมาแล้วสามารถมีส่วนร่วมช่วยสร้างสรรค์น้องๆ รุ่นต่อไป สร้างเป็นชมรม สร้างเป็นทีม เพื่อที่จะพัฒนาน้องๆ เข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคตประเทศไทยจะสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเองในหลายๆ ด้าน"

หนึ่งในโครงงานที่ร่วมประกวดบนเวที Intel ISEF 2019 และคว้ารางวัลที่ 4 ในสาขาเคมี พร้อมทุนการศึกษา 500 เหรียญสหรัฐฯ จากโครงงาน "การพัฒนานวัตกรรมชุดทดสอบเซนเซอร์เชิงสีเพื่อตรวจวัดปริมาณคลอรามีนในสระว่ายน้ำโดยตรง: แนวคิดใหม่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ" ประกอบด้วย น.ส.อธิชา สันติลินนท์ นายณัฐประวีร์ ปัถยาวิชญ์ และนายณภัทร สัจจมงคล โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม ซึ่งเป็นผู้ชนะเลิศจากเวทีประกวดในประเทศ "โครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC 2019)" จัดโดย เนคเทค-สวทช. เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า "จุดเริ่มต้นโครงงานมาจากการเริ่มเข้าประกวดในโครงการแข่งขันภายในประเทศ YSC ระหว่างทางจะมีการคัดเลือกในแต่ละรอบ เพราะฉะนั้น ต้องพัฒนาโครงงานของเราไปเรื่อยๆ จนได้รับรางวัลชนะเลิศและเป็นตัวแทนประเทศ โดยที่ผ่านมาโครงงานเราอาจมีข้อผิดพลาดบ้าง เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงงานบ้าง เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทดสอบมากที่สุด จนถึงจุดที่เราคิดว่านี่แหละคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว โดยชุดทดสอบนี้ จะทำให้กระบวนการทำความสะอาดสระว่ายน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้สารเคมีน้อยลง ซึ่งโครงงานของเรามีจุดเด่นอยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ สามารถนำมาแก้ไขปัญหากับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันจริง และผลทดสอบที่ออกมา พบว่า มีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีทำความสะอาดแบบปัจจุบัน

น้องๆ กล่าวต่อว่า โดยก่อนไปได้มีการเตรียมตัวพูดคุยกับพี่ๆ นักวิจัย เพื่อขัดเกลาผลงานของเราให้เหมือนเป็นงานวิจัยที่ทำกันจริงๆ ให้ช่วยดูการนำเสนอ ดูเนื้องานว่าดีพอหรือยัง เพิ่มอะไรบ้าง และมีการเข้าห้องแล็บเตรียมตัวที่ สวทช. ด้วย ซึ่ง ณภัทร สัจจมงคล หนึ่งในตัวแทนทีม เผยว่า "รู้สึกดีใจมากๆ คือรางวัลนี้ เป็นรางวัลที่ผมดีใจมากที่สุดแล้วตั้งแต่เกิดมา เพราะเป็นการที่เราได้ใช้ความคิด สร้างโครงงานนี้ขึ้นมาด้วยตัวเอง เหมือนเราได้ทำลงมือด้วยตนเอง จึงภูมิใจมาก อยากฝากบอกน้องๆ ว่า วิชาทำโครงงานหรือโพรเจกต์เป็นสิ่งสำคัญมากๆ เป็นการนำความรู้ที่ได้มามาพัฒนาต่อยอดได้ ไม่เหมือนกับการเรียนที่โรงเรียน สามารถคิดได้หลายๆ มุม หลายๆ แนว ทำให้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือประเทศชาติหรือช่วยเหลือโลกได้ด้วย ขณะที่ อธิชา สันติลินนท์ เผยว่า "ตอนที่ประกาศรางวัล และมีประกาศชื่อประเทศไทย มีความภาคภูมิใจมากๆ ที่เราไปอยู่ ณ จุดนั้น ซึ่งมีผู้แข่งขันจากทั่วทุกมุมโลก เป็นการประกาศว่า เด็กไทยก็ทำได้เหมือนกัน"

ด้าน อาจารย์ที่ปรึกษา นายเกียรติภูมิ รอดพันธ์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จากผลงานข้างต้น กล่าวเสริมว่า น้องๆ มีความสามารถพิเศษในการคิดสร้างสรรค์ในการทำโครงงานอยู่แล้ว ซึ่งโครงงานมาจากแนวคิดร่วมด้วยช่วยกันของน้องๆ ทั้ง 3 คน และนำมาปรึกษากับทางอาจารย์ และช่วยกันปรับปรุงไปเรื่อยๆ จนได้รับรางวัล YSC2019 และก่อนจะไปทางนักวิจัยเนคเทค สวทช. ได้ช่วยเสริมให้งานดียิ่งขึ้นด้วย ซึ่งตอนไปที่อเมริกา ได้ฝึกซ้อมทักษะนำเสนอและปรับวิธีนำเสนอ ที่เน้นให้กรรมการเห็นถึงความสำคัญและจุดเด่นของโครงงานเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ Intel ISEF 2019 เป็นการประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นระหว่าง 12 - 17 พฤษภาคม 2562 ณ เมืองฟินิกส์ มลรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้เข้าร่วมแข่งขันจากทั่วโลกกว่า 80 ประเทศ มากถึง 1,886 คน โดยประเทศไทยส่งผลงานเยาวชนไทยเข้าร่วมจำนวน 17 โครงงาน ด้วยการสนับสนุนของหน่วยงานหลายแห่ง ได้แก่ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สวทช. เนคเทค พร้อมด้วย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มูลนิธิอินเทล ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ