นายธงเทพ ศิริโสดา อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เผยว่า ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตย์ฯ ได้นำนักศึกษาไปเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ด้วยการออกแบบห้องเรียน ห้องสมุดและพื้นที่ทำกิจกรรมให้กับโรงเรียนวัดสวนทองรวมมิตร อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี โดยก่อนหน้านี้เคยพาทีมนักศึกษาไปช่วยหลายโรงเรียนที่ผ่านมา จึงได้รับการติดต่อจากผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ให้มาช่วยดูแล ออกแบบและพัฒนาทางด้านสถาปัตยกรรมภายใน
"จากการลงพื้นที่สำรวจหน้างานร่วมกับทีมนักศึกษา พบว่าโรงเรียนวัดสวนทองรวมมิตรเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา มีทรัพยากรค่อนข้างจำกัดหลายด้าน ที่สำคัญสภาพอาคารเรียนและห้องเรียนชำรุดทรุดโทรม บรรยากาศไม่เอื้อต่อการเรียนการสอนมากเท่าไร ประกอบกับสีผนังที่ทาไว้มีลักษณะหลุดร่อน ลอกและซีด อุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ค่อนข้างขาดการบำรุงซ่อมแซม ประกอบกับพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมและเวทีดูเก่า ซึ่งทั้งหมดนี้น่าจะเป็นไปตามการใช้งานและกาลเวลา จึงต้องมีการพัฒนาปรับปรุงและซ่อมแซมเพื่อให้เหมาะสม ทั้งห้องเรียน ห้องสมุดและพื้นที่ทำกิจกรรม" อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าว
ตัวแทนนักศึกษานำโดย น.ส.รวินันท์ ลอยเมฆ 'แพรว' นักศึกษาชั้นปี 4 บอกถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า ภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาปรับปรุงโรงเรียน โดยการนำความรู้ ประสบการณ์ทั้งจากในห้องเรียนและชีวิตจริง มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบตกแต่งภายใน ได้ลงมือปฏิบัติและเรียนรู้ชีวิตการทำงานจริง ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาออกแบบห้องเรียน
รวินันท์ บอกอีกว่า ลักษณะงานที่ทำเริ่มตั้งแต่ทาสีผนังห้อง ตัดยิปซัม กรุผนังแล้วทาสีอีกครั้ง บางจุดมีการวาดภาพประกอบเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ ขณะเดียวกันยังได้วางผัง เขียนแบบ "การได้ทำจริง เรียนรู้ของจริง สร้างประสบการณ์ที่ดี ได้ทดลองทำ ภายใต้การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษา" การลงพื้นที่ครั้งนี้นานประมาณ 2 เดือนเศษ ได้ฝึกการวางแผนอย่างเป็นระบบและการแบ่งเวลาเพื่อให้งานเดินหน้าตามที่ตั้งเป้าหมายไว้"ขอบคุณบริษัทเอกชนที่สนับสนุนเงินทุน ในการร่วมพัฒนาครั้งนี้ด้วย" เมื่องานเสร็จมีการส่งมอบอย่างเป็นทางการ ได้รับฟีดแบคทั้งผู้อำนวยการ อาจารย์และนักเรียนว่าชื่นชอบและช่วยสร้างบรรยากาศ ส่งเสริมการเรียนการสอนของเด็กนักเรียนได้เป็นอย่างมาก
ด้าน นายปฏิภาณ เจิง 'เต๋อ' นักศึกษาชั้นปี 4 กล่าวว่าตนได้รับผิดชอบงานไม้ การปรับพื้นให้เรียบ แต่สิ่งสำคัญคือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ได้ร่วมบริหารจัดการ ออกแบบตกแต่งภายในภายใต้งบประมาณจำกัด และวัสดุบางอย่างที่มีไม่ค่อยสมบูรณ์ แต่ทั้งหมดนี้ก็สามารถสร้างให้เกิดเป็นผลงานขึ้นมาได้
นอกจากทีมนักศึกษา มทร.ธัญบุรี แล้ว ยังมีชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงมาร่วมลงแรงด้วย "ระหว่างที่งานใกล้จะเสร็จมีนักเรียนหลายคนเดินเข้ามาดู มาทักทาย และชอบในผลงานของเรา ในฐานะคนทำงานก็รู้สึกภาคภูมิใจ ที่พวกเขานั้นชื่นชอบ สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เราทำสามารถตอบสนองความต้องการพวกเขาได้เป็นอย่างดี" ปฏิภาณ อธิบาย
"แม้ระยะเวลา วัสดุอุปกรณ์จะค่อนข้างจำกัด แต่ทุกคนมาด้วยหัวใจและทำผลงานจากความตั้งใจจริง ได้เสนอแนะแนวทางร่วมกันเพื่อให้งานออกมาดี โดยมุ่งหวังเหมือนกันว่าจะช่วยกระตุ้นให้เด็กนักเรียนได้รับบรรยากาศที่ดี พร้อมที่จะศึกษาหาความรู้ เพื่อเติบโตมาเป็นเยาวชน คนของชาติที่มีคุณภาพต่อไป" นายธงเทพ กล่าวสรุป.