Money Expo 2019 ธุรกรรมดิจิทัลพุ่ง ยอดเงินสะพัด 7 หมื่นล้านบาท

พุธ ๒๒ พฤษภาคม ๒๐๑๙ ๑๑:๓๙
งานมหกรรมการเงิน Money Expo ครั้งที่ 19 ธนาคาร/ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดนวัตกรรมการเงินการลงทุนดิจิทัลในงาน แข่งโปรโมชั่นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0%-เงินฝากดอกเบี้ยสูงสุด 4% ต่อปี หนุนยอดเงินสะพัด 7 หมื่นล้านบาท สินเชื่อบ้าน/รีไฟแนนซ์บ้านยังฮิตมียอดขอกู้ 4.8 หมื่นล้านบาท ผู้ประกอบการขอสินเชื่อเอสเอ็มอีกว่า 1 หมื่นล้านบาท เงินฝาก/สลากออมทรัพย์/พันธบัตรยอดพุ่งกว่า 3.8 พันล้านบาท

นางสาวภาคนี วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานจัดงานร่วมงานมหกรรมการเงิน Money Expo เปิดเผยว่างานมหกรรมการเงิน ครั้งที่ 19 Money Expo 2019 ซึ่งจัดขึ้นในแนวคิด "Digital Orchestra" ระหว่างวันที่ 16-19 พฤษภาคม 2562 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ประสบความสำเร็จอีกครั้ง ธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทโบรกเกอร์ ได้นำนวัตกรรมทางการเงินและการลงทุนในยุคดิจิทัลมาเปิดตัวในงานอย่างคึกคัก

ธนาคารกรุงเทพ เปิดตัวโปรแกรม "Trade Master" เป็นครั้งแรกในงาน Money Expo 2019 ซึ่งเป็นนวัตกรรมการซื้อขายหุ้นอัตโนมัติของ บล.บัวหลวงที่ช่วยแก้ปัญหาและข้อจำกัดในการลงทุนของนักลงทุน Trade Master เป็นโปรแกรมที่ได้ร่วมพัฒนากับบริษัทหลักทรัพย์ ประเทศเกาหลี Daishin Financial Group สามารถผูก Rabbit LINE Pay BTS กับบัญชีบนแอปพลิเคชั่นบัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง

ธนาคารไทยพาณิชย์นำนวัตกรรมสำหรับลูกค้าWealth บน 3 แพลตฟอร์มสำคัญมาเปิดตัวในงานเป็นครั้งแรกได้แก่ iOnboard แพลตฟอร์มการเปิดบัญชีด้วยขั้นตอนที่ง่าย รวดเร็ว ครอบคลุมทุกบัญชีในการบริหารความมั่งคั่ง ได้แก่ บัญชีเงินฝาก บัญชีกองทุน และบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ โดยใช้เทคโนโลยียืนยันตัวตน Facial Recognition ได้อย่างแม่นยำแบบเรียลไทม์ ลดระยะเวลาในการเปิดบัญชีเหลือเพียง 9 นาทีผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

wPlan เครื่องมือสำคัญที่ให้บริการวางแผนการลงทุนแบบรอบด้านที่รวบรวมกลยุทธ์และมุมมองการลงทุนจากทีม SCB CIO Office ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน พร้อมรายละเอียดผลิตภัณฑ์การลงทุนอย่างชัดเจน สามารถลงทุนได้หลากหลายและปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนได้ตามต้องการและ Easy Invest เพื่อให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้ด้วยตัวเอง (D.I.Y.) ครบและง่ายที่สุดผ่าน SCB EASY นำร่องด้วย Robo-advisor ที่มีจุดเด่นด้านการตั้งเป้าหมายเพื่อออกแบบแผนการลงทุนเฉพาะบุคคลแบบอัตโนมัติ

ธนาคารกสิกรไทยนำเทคโนโลยี Facial Recognition มาให้ได้ทดลองใช้ในรูปแบบของเกมก่อนที่จะนำมาใช้ในการให้บริการจริงอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ ธนาคารกรุงไทยนำ Krungthai Next แอปพลิเคชั่นใหม่ที่ช่วยอำนวยความสะดวกทางการเงินภายในแอปฯเดียว รวมทั้งบัตร Krungthai Travel Card บัตรสำหรับการท่องเที่ยวที่รองรับอัตราแลกเปลี่ยนหลายสกุลเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยาชูนวัตกรรมดิจิทัลของกรุงศรีโมบายล์แอป, กรุงศรี บิซ ออนไลน์, กรุงศรี คิวอาร์ เพย์เม้นท์ ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้า

ธนาคารออมสินนำ Digital Salak on MyMo มาเปิดขายในงานเป็นครั้งแรก โดยเป็นการฝากผ่าน Mobile Banking อายุสลาก 1 ปี หน่วยละ 20 บาท ครบ 1 ปีได้รับดอกเบี้ย 0.05 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็น0.25% ต่อปี ดอกเบี้ยและรางวัลได้รับการยกเว้นภาษี พร้อมลุ้นรางวัลที่ 1 มูลค่า 2 ล้านบาท มีลูกค้าให้ความสนใจเป็นจำนวนมากโดยมียอดจองซื้อจากทั่วประเทศกว่า 50,000 ราย รวมมูลค่า 1,600 ล้านบาท

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นำแอปพลิเคชั่นใหม่ Streaming Click2Win มาเปิดให้ใช้บริการในงาน โดยเป็นแอปทดลองส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นและอนุพันธ์ ด้วยเงินจำลองแบบไม่ต้องเปิดบัญชีเพื่อเรียนรู้และซ้อมส่งคำสั่งก่อนซื้อ-ขายจริง และนำแอป Streaming for FUND แอปฯ ซื้อขายกองทุนรวม LTF และ RMF กว่า 17 บลจ. โดยไม่ต้องเปิดบัญชีหลายรอบ รวมถึงบริการ SETSMART New Version พัฒนาการแสดงข้อมูลให้ทันสมัย ง่าย และข้อมูลครบถ้วนยิ่งขึ้น

ส่วนในโซนใหม่ล่าสุดในงาน Money Expo 2019 อย่าง Startup Business Matching คับคั่งไปด้วยทัพสตาร์ตอัพชั้นแนวหน้าของประเทศไทย นำโดยดิจิทัลเวนเจอร์สในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ นำเสนอผลงานของสตาร์ตอัพที่ได้รับทุนวิจัยจากโครงการ UREKA ครั้งที่ 1 เช่น Easy Rice ระบบตรวจสอบสินค้าข้าวและธัญพืช,Perception ระบบคอมพิวเตอร์ 3 มิติตั้งโต๊ะ, Pordeekum.ai แชตบอตผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอนวัตกรรมสินเชื่อดิจิทัลจากทีม SCB 10X ที่จะทำให้ประสบการณ์การขอสินเชื่อจากธนาคารเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ด้านธนาคารออมสินก็ขนทัพ SME Startup ตัวจริงมาโชว์สินค้าและบริการภายในงาน ถึง 11 ราย ซึ่งล้วนแต่เป็นสตาร์ตอัพที่มีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้วทั้งสิ้น เช่น Liluna แอปพลิเคชั่นบริการแชร์ค่าเดินทาง, Airportel บริการขนส่งกระเป๋าเดินทาง,WC Plus ห้องน้ำพกพาสำหรับสุภาพสตรี และยังมีบริการให้คำปรึกษาสำหรับการเริ่มธุรกิจสตาร์ตอัพอีกด้วย

ส่วนสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ก็นำ 3 สตาร์ตอัพแนวหน้าของไทยมาโชว์บริการภายในงาน นำโดย ITAX ระบบจัดการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะทำให้ผู้ใช้สามารถได้รับเงินคืนภาษีสูงสุด, Refinn แพลตฟอร์มให้บริการสินเชื่อบ้านผ่านช่องทางออนไลน์ และ Noburo โปรแกรมอัจฉริยะช่วยคำนวณภาระหนี้สินและแนะนำการใช้จ่ายอัตโนมัติ

สำหรับยอดธุรกรรมที่เกิดขึ้นภายในงานมหกรรมการเงินครั้งที่ 19 Money Expo 2019 มีประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจสมัครใช้บริการทางการเงินและการลงทุนรวมกว่า 102,000 ราย และมียอดธุรกรรมการเงินเกิดขึ้นในงาน 4 วันรวม 69,600 ล้านบาทจากผู้เข้าชมงานกว่า 800,000 คน โดยมีประชาชนเดินทางจากต่างจังหวัดมาใช้บริการในงานเพื่อรับโปรโมชั่นพิเศษที่มีเฉพาะในงานเท่านั้น

ปีนี้สินเชื่อบ้านและรีไฟแนนซ์บ้านมียอดขอกู้ภายในงานน้อยกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซาและส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อ

มูลค่าหลักประกัน (LTV) แต่ก็ยังมียอดสูงเป็นอันดับ 1 รวมวงเงิน 47,600 ล้านบาท จากโปรโมชั่นที่แต่ละธนาคารนำมาแข่งขันกันในงาน โดยเฉพาะโปรโมชั่นดอกเบี้ยพิเศษ 0% ที่มีในงานนี้เท่านั้น พร้อมกับได้รับเงื่อนไขพิเศษต่างๆ เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าประเมินราคา ค่าจดจำนอง เป็นต้น ซึ่งประชาชนที่ยื่นขอกู้สินเชื่อบ้านในงานสามารถรู้ผลอนุมัติเบื้องต้นได้ทันที

อันดับ 2 สินเชื่อเอสเอ็มอี รวมวงเงินกู้และยอดค้ำประกันสินเชื่อกว่า 10,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับโปรโมชั่นพิเศษอัตราดอกเบี้ยต่ำ 1-4% และยังมีแคมเปญอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ผ่อนปรนสำหรับสตาร์ตอัพที่มาขอกู้ภายในงานอีกด้วย

นางสาวภาคนีเปิดเผยอีกว่า ปีนี้มียอดเงินฝาก/สลากออมทรัพย์และพันธบัตร สูงเป็นอันดับ 3 รวมวงเงินกว่า3,800 ล้านบาทจากโปรโมชั่นเงินฝากดอกเบี้ยสูงของธนาคารที่นำมาแข่งขันกันอย่างดุเดือด เช่น ธนาคารออมสินมีโปรโมชั่นเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 106 วัน อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดสูงสุด 10% ต่อปี คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4% ต่อปีทำให้มีประชาชนมาเข้าคิวตั้งแต่เช้าทุกวัน, เงินฝากอัตราดอกเบี้ยสูง 3.75% ต่อปี ของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์แคปปิตอลลิ้งค์, เงินฝากประจำ 12 เดือน อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ของธนาคารซีไอเอ็มบีไทย รวมทั้งสลากดิจิทัลอายุ 1 ปีของธนาคารออมสิน และพันธบัตรรัฐบาลที่มียอดจองซื้อเต็มโควต้าของธนาคารที่มาเปิดขายในงานด้วย

ปีนี้สินเชื่อรายย่อยมียอดขอกู้ในงานเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบัตรเครดิตมีผู้สมัคร 23,000 ใบ รวมมูลค่ากว่า 2,300 ล้านบาท และสินเชื่อบุคคลมีผู้สมัครใช้บริการกว่า 12,000 ราย รวมมูลค่า 1,200 ล้านบาท

สำหรับบริการทางการเงินการลงทุนอื่นๆ ในงาน ก็มีผู้ลงทุนและสมัครใช้บริการเป็นจำนวนมาก เช่น การลงทุนซื้อประกันชีวิตและประกันวินาศภัย/แบงก์แอสชัวรันส์ คิดเป็นทุนประกัน 2,200 ล้านบาท, การลงทุนซื้อกองทุนรวม 560 ล้านบาท และการเปิดบัญชีหุ้น-อนุพันธุ์/ซื้อขายทองคำรวมกว่า 2,700 ราย

ปีนี้ มีประชาชนเข้าร่วมประมูลทรัพย์ขายทอดตลาดของกรมบังคับคดีในงานมหกรรมการเงิน Money Expo 2019 รวมมูลค่าทรัพย์ 420 ล้านบาท ส่วนการขายสินทรัพย์ NPA ของธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์ก็ได้รับความสนใจมากเช่นเดียวกัน โดยมียอดขายทรัพย์ NPA กว่า 1,300 ล้านบาท นอกจากนี้ กรมบังคับคดี ยังนำโครงการไกล่เกลี่ยลูกหนี้ของธนาคาร สถาบันการเงิน และบัตรเครดิตมาในงาน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทุนทรัพย์รวมกว่า 250 ล้านบาท

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ