"การนำความรู้ทางการบัญชี และบริหารธุรกิจลงไปทำงานกับชุมชนตามแนวทางที่เรียกว่า ธรรมศาสตร์โมเดลนั้นทางคณะฯ เราดำเนินการมากว่า 10 ปีแล้ว" รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวถึงแคมเปญนี้ที่เป็นการนำนักศึกษาระดับชั้นปี 3-4 ลงไปทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับชุมชน เพื่อนำความรู้จากห้องเรียนไปสู่การปฏิบัติจริง ความรู้ทางการบริหารธุรกิจสมัยใหม่จะถูกนำมาใช้เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ช่วยพัฒนามุมมองใหม่ให้สมาชิกของชุมชน ในขณะที่นักศึกษาเองก็ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้วิเคราะห์ปัญหาและแก้ปัญหาในสถานการณ์จริงๆ ที่สำคัญที่สุดคือได้มีโอกาสเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จร่วมกัน
"สิ่งที่เราเน้นคือนักศึกษาต้องใช้เครื่องมือทางบริหารธุรกิจสมัยใหม่อย่างกลมกล่อมกับวิถีของชุมชน ทุกการเปลี่ยนแปลงต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ยั่งยืน เราต้องแน่ใจว่าเมื่อนักศึกษาถอนตัวออกมาแล้ว ชุมชนจะเดินต่อไปได้อย่างแข็งแรง โดยนักศึกษาของเราจะถอยมาเป็นพี่เลี้ยงอยู่ห่างๆ นักศึกษาจะร่วมกับชุมชนในการวางรากฐานทางการตลาด การเงิน และบัญชีให้ชุมชน ชุมชนจะสามารถทำงานได้บนพื้นฐานของข้อมูล รู้ต้นทุนที่แท้จริง รู้การวางแผนการผลิต การบริหารสต๊อก ที่สำคัญคนในชุมชนจะต้องทำได้ด้วยตัวเอง ทุกอย่างถูกคิดอยู่บนฐานความยั่งยืนเป็นสำคัญ สิ่งที่ธรรมศาสตร์โมเดลต้องการคือยกระดับการพัฒนาชุมชนให้ต่อสู้ได้ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง"
หลังจากการพัฒนาธุรกิจชุมชนด้วยแนวทาง "ธรรมศาสตร์โมเดล" มาได้ระยะหนึ่ง ดอกผลของการทำงานก็เป็นที่ประจักษ์ เมื่อมีพันธมิตรที่สำคัญเข้ามาร่วมอุดมการณ์ด้วยนั่นคือธนาคารออมสิน และสมาคมเพื่อนชุมชน จังหวัดระยองที่มาร่วมเดินเคียงบ่าเคียงไหล่มาได้ราว 5 ปีแล้ว
"สมาคมเพื่อนชุมชน จังหวัดระยอง ซึ่งมีสมาชิกเป็นองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในมาบตาพุดมามีส่วนสนับสนุนให้นักศึกษาได้เข้าไปสัมผัสชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีความหลากหลายและท้าทายมาก ในขณะที่ธนาคารออมสินช่วยเหลืออย่างมากในการขยายธรรมศาสตร์โมเดลออกไปทั่วประเทศ โดยสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยทั่วทุกภาคได้เข้าไปยกระดับวิสาหกิจชุมชนให้ทันสมัยขึ้นตามแคมเปญ "ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น" ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างกว้างขวางในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องขอบคุณทั้งคุณชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และคุณสุรจิต สถาพรวลัยรัตน์ ผู้จัดการสมาคมเพื่อนชุมชน ที่เป็นพันธมิตรที่ทุ่มเททำงานอย่างใกล้ชิดกับธรรมศาสตร์อย่างมาก" คณบดีคณะพาณิชย์ฯ มธ. กล่าว
สิ่งที่เห็นได้ชัดอันเป็นผลจากการร่วมมือกันพัฒนาวิสาหกิจชุมชนคือ การเติบโตในด้านรายได้ ชุมชนเข้าใจการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ระบบบัญชี รู้ต้นทุนกำไร สามารถขยายไปสู่ระบบการขายออนไลน์ และเห็นลู่ทางที่จะต่อยอดธุรกิจให้เติบโตขึ้นได้ในอนาคต ตัวอย่างเช่น ชุมชนเกาะกก อำเภอเมืองจังหวัดระยอง ผลจากการทำงานร่วมกันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์จากข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่ขายเป็นกิโล มาเป็นการแปรรูปข้าวออกมาเป็นไรซ์บาร์ ขนมเพื่อสุขภาพในชื่อ "Rice Me" ที่สามารถเพิ่มคุณค่าและมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้อีกหลายสิบเท่า สามารถขยายตลาดออกไปได้อย่างกว้างขวางกับผู้บริโภคทุกระดับ ที่สำคัญได้ร่วมกันต่อยอดปรับปรุงผลิตภัณฑ์ไปจนได้อย. และปัจจุบันสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีโปรเจคที่ชุมชนร่วมกับทีมนักศึกษาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ลูกประคบเป็นหมอนรองคอบรรจุสมุนไพร พร้อมๆ กับการออกแบบบรรจุภัณฑ์และการสร้างแบรนด์ที่เป็นสากล เป็นของฝากที่ชาวต่างประเทศซื้อกลับไปได้ ผลการพัฒนาทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ชุมชนเกิดความตื่นตัวและเหนียวแน่นมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถรักษาที่นาผืนสุดท้ายใจกลางเมืองระยองเอาไว้ได้อย่างน่าภาคภูมิ
อีกชุมชนหนึ่งคือชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากฟักข้าวเกษตรพัฒนา ตำบลมหาสวัสดิ์ จังหวัดนครปฐม ทีมนักศึกษาได้ร่วมกับชุมชนทำการปรับสูตรและรีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากฟักข้าว ทั้งเครื่องดื่ม คุ๊กกี้ สบู่ ฯลฯ ในแบรนด์ "บายขนิษฐา (by KANITTHA)" เพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ การเปิดรับตัวแทนจำหน่าย การออกร้าน ฯลฯ และสอนการจัดทำบัญชี การควบคุมสินค้าคงเหลือ ปัจจุบันชุมชนบ้านฟักข้าว คลองมหาสวัสดิ์มีรายได้เติบโตอย่างมาก และกลายเป็นต้นแบบของวิสาหกิจสร้างสรรค์ เป็นที่ดูงานของนักท่องเที่ยวและหลายๆ องค์กร เป็นที่สนใจของสื่อมวลชน และยังได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการท่องเที่ยวในย่านคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้ชุมชนอีกด้วย
ชุมชนข้างต้นเป็นเพียงบางตัวอย่างความสำเร็จในกว่า 160 ชุมชนในระยะกว่า 10 ปีของการดำเนินงาน "ธรรมศาสตร์โมเดล" ซึ่งชุมชนส่วนใหญ่ยังคงดำเนินงานสร้างรายได้ให้กับหมู่สมาชิกอย่างต่อเนื่อง และเพื่อขยายผลการดำเนินงานให้เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวางไปทั่วโลก คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตัดสินใจพัฒนา "ธรรมศาสตร์โมเดล" ออกมาเป็นกรณีศึกษาและส่งเข้าประกวดในฐานะแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Excellence in Practice) บนเวทีของ EFMD ซึ่งเป็นองค์กรของยุโรปที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกในการประเมินเพื่อให้การรับรองมาตรฐานการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจของสถาบันต่างๆ ในระดับอุดมศึกษาที่เรียกว่ามาตรฐาน EQUIS โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ TBS ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน EQUIS มาตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบัน EFMD ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม มีสมาชิกทั้งจากมหาวิทยาลัยและองค์กรต่างๆ กว่า 900 แห่ง จาก 91 ประเทศ ทั้งนี้จากมหาวิทยาลัยทั่วโลกกว่า 10,000 แห่ง มีไม่ถึง 200 แห่งได้รับการรับรองตามมาตรฐาน EQUIS
กรณีศึกษาแคมเปญกิจกรรมเพื่อสังคมตามแนวทาง "ธรรมศาสตร์โมเดล" ได้รับการตัดสินจาก EFMD ให้ได้รับรางวัล Excellence in Practice ในประเภท Ecosystem Development ประจำปี 2019 ในระดับ Silver โดยถือเป็นรางวัลสำหรับความร่วมมือระหว่าง TBS ธนาคารออมสิน และสมาคมเพื่อนชุมชน ทั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่สถาบันการศึกษาของไทย และพันธมิตรจากองค์กรชั้นนำของไทยได้รับรางวัลนี้ โดยพิธีการมอบรางวัลจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2562 ณ กรุงบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน
"การได้รับรางวัลครั้งนี้ เป็นบทพิสูจน์การเรียนการสอนของ TBS การที่เรามุ่งสร้างการเรียนรู้ของนักศึกษาและสังคมแวดล้อมบน 3 เสาหลักของ Innovative – Practical – Connected พิสูจน์ได้ถึงความสำเร็จในการสร้างระบบการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นการตอกย้ำคุณภาพการศึกษาของ TBS ซึ่งได้รับการรับรองด้วย 3 มาตรฐานการรับรองระดับโลก หรือ "Triple Crown Accreditation" เป็นแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย คณบดี TBS กล่าวในที่สุด