นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับการอนุมัติ งบประมาณในปี2562จากท่านพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการจัดตั้ง "โครงการสร้างที่อยู่อาศัยและฟื้นฟูพันธุ์สัตว์น้ำโดยเน้นการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น"โดยเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรประมง อาทิ การเพิ่มแหล่งประมงที่มีคุณภาพใกล้ชายฝั่งทะเล การฟื้นฟูระบบนิเวศน์ชายฝั่ง การพัฒนาศักยภาพของแหล่งประมงให้มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อเพิ่มรายได้รวมถึงยกระดับความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้านให้ดีขึ้นทั้งด้านการอนุรักษ์ การฟื้นฟู การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ และการควบคุมการนำทรัพยากรสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน
นายพรศักดิ์ ศักดิ์ธานี ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้โครงการดังกล่าวปัจจุบันทางสำนักงานประมงจังหวัดได้ดำเนินการสร้างซั้งเชือก และกระโจมบ้านปลาในเขตพื้นที่การอนุรักษ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชไปแล้วประมาณ 1,000 ชุดโดยมีผลการดำเนินการดังนี้
1. สร้างซั้งเชือกในพื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จำนวน 135 ชุด (วันที่ 29เม.ย.62)
2. สร้างกระโจมบ้านปลาในพื้นที่ หมู่ที่ 5ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จำนวน 400 ชุด (วันที่ 26เม.ย. 62)
3. สร้างทำกระโจมบ้านปลาในพื้นที่ หมู่ที่ 2,4ต.ปากพูน อ.เมือง จำนวน 300 ชุด(วันที่ 3 พ.ค.62)
4. สร้างกระโจมบ้านปลาบ้านปากนคร หมู่ที่ 1 ต.ปากนคร อ.เมือง จำนวน 200 ชุด (วันที่ 13 พ.ค. 62)
และเนื่องจากโครงการดังกล่าวได้รับความพึงพอใจและความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกลุ่มอนุรักษ์ ล่าสุดทางสำนักงานประมงจังหวัดได้ดำเนินการขยายพื้นที่โครงการบ้านปลาเพิ่มเติมในหมู่ที่ 6 7 และ 9 ในพื้นที่บ้านปากพญา ต.ท่าซัก อ.เมือง เพิ่มเติมอีกจำนวน 400 ชุดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา และกำลังพิจารณาพื้นที่อื่นที่ชุมชนมีความพร้อมเพื่อดำเนินการสร้างบ้านปลาเพิ่มอีกต่อไป
อธิบดีกรมประมงกล่าวปิดท้ายว่า ขอบคุณทุกความร่วมมือของพี่น้องชาวประมง การสร้างบ้านให้สัตว์น้ำนั้นเป็นอีกหนึ่งในแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เมื่อสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้นชาวประมงก็จะสามารถจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น ก็จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้เครื่องมือประมงต่างชนิดกัน สุดท้ายเมื่อชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้น สามารถส่งต่ออาชีพประมงไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานของเราต่อไปได้