นายอาทิตย์ มติธรรม ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการประกอบอาชีพจนประสบความสำเร็จ จากเดิมเคยเป็นข้าราชการครู ใช้เวลาว่างหลังเลิกงานทำสวนทุเรียน เป็นระยะเวลา 25 ปี ก่อนจะลาออกมาทำอาชีพเกษตรกรอย่างเต็มตัว ในปี 2538 ช่วงนั้นเกิดวิกฤตราคาทุเรียนตกต่ำ สำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้นำเกษตรกรในท้องถิ่นรวมทั้งนายอาทิตย์ไปศึกษาดูงานสวนผลไม้ในจังหวัดจันทบุรี โดยนายอาทิตย์สนใจปลูกสละจึงซื้อต้นพันธุ์สละมาปลูกที่บ้านเกิด จำนวน 36 ต้น ถือเป็นรายแรกที่นำสละมาปลูกในเชิงการค้าในภาคใต้จนได้ OTOP ของตำบลคลองปราบ เป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัด
ระยะแรก นายอาทิตย์ เล่าให้ฟังว่าทดลองปลูกสละแซมในสวนทุเรียนก่อน เมื่อต้นสละให้ผลผลิตที่ดี จึงค่อยๆ ขยายพื้นที่ปลูกสละเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกรวม 152 ไร่ มีสละประมาณ 8,000 กอ ให้ผลผลิตมากกว่าปีละ 300 ตัน และผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ผลสละคุณภาพดี ช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดในอนาคต เพราะทุกวันนี้ ผู้บริโภคสนใจเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหารเพิ่มมากขึ้น
นายอาทิตย์สนใจศึกษาหาความรู้ พัฒนาการปลูกสละจนเกิดความเชี่ยวชาญในการปลูกสละ กลายเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้การทำสวนสละครบวงจร ผลผลิตสละสดของสวนสละอาทิตย์ ได้รับรางวัลสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว และพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าในรูปแบบต่างๆ เช่น น้ำสละ สละลอยแก้ว ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน อย. และฮาลาล สร้างตราสินค้า (Brand) เป็นของตนเอง รวมทั้งจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนผลิตและแปรรูปสละอาทิตย์ เปิดสวนสละอาทิตย์เป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงเกษตร ในปี 2550 เส้นทางความสำเร็จของ สวนสละอาทิตย์ สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรในเขตภาคใต้ที่ประสบปัญหายางพาราและปาล์มน้ำมันตกต่ำ สนใจที่จะปลูกสละในพื้นที่ของตนเอง เพื่อสร้างอาชีพรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน
เทคนิคการปลูกสละของนายอาทิตย์ จะใช้ต้นพันธุ์ที่แยกจากส่วนลำต้นมาเพาะและอนุบาลในกระถางก่อนนำไปปลูกในระยะ 4x6 เมตร โดยปลูกสละทั้ง 2 เพศในแปลงเดียวกันใน อัตราส่วนต้นตัวผู้ 1 ต้นต่อตัวเมีย 20 ต้น ซึ่งพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกสละได้ 66 ต้น และปลูกต้นสะตอเหลียงไว้ในแปลงสละด้วย เพื่อเป็นร่มเงาแก่ต้นสละ รากต้นสะตอเหลียงสามารถตรึงไนโตรเจนในดินแถมยังใช้ใบสะตอเหลียง เป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงต้นสละไปพร้อมๆ กัน ช่วยประหยัดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีได้เกือบ 50%
ภายในสวนแห่งนี้ ได้ติดตั้งเครื่องวัดความชื้นในดินและความชื้นในอากาศด้วย เพื่อดูแลจัดการให้น้ำต้นสละอย่างเพียงพอตามความต้องการของพืช ช่วยให้ผลผลิตคุณภาพดีการดูแลจัดการสวนสละไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด เน้นดูแลจัดการสวนให้โปร่งสะอาด เก็บสละผลเน่า ผลร่วงออกให้หมดเพื่อป้องกันปัญหาเชื้อรา และเลี้ยงแมวไว้กว่า 50 ตัว เพื่อช่วยกำจัดศัตรูพืชประเภท หนู กระรอก กระแต ภายในสวนสละแห่งนี้
หลังปลูก 6 เดือนเมื่อต้นสละแตกกอ จะตัดแต่งต้นสละหลุมละไม่เกิน 3 ต้น ใส่ปุ๋ยครั้งละน้อยแต่ใส่บ่อยๆ โดยใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ประมาณ 300 กรัม/กอ/เดือน สลับกับปุ๋ยคอกและมูลไก่อัดเม็ด เมื่อต้นสละอายุครบ 30 เดือน จะเริ่มออกดอก อาศัยแรงงานคนช่วยผสมเกสรโดยนำดอกตัวผู้มาเคาะใส่ดอกตัวเมียที่บานแล้ว หลังจากนั้นอีก 9 เดือน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้ โดยมีผลผลิตเฉลี่ยกอละ 60 ก.ก. ขายในราคาก.ก.ละ100บาท
ปัจจุบัน สวนสละอาทิตย์ กลายเป็น 1 ใน 50 แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรต้องชม ที่กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่แวะเข้ามาที่สวนแห่งนี้จะได้สนุกสนานกับกิจกรรมต่างๆ ทั้งการศึกษากรรมวิธีการผลิตสละคุณภาพ GAP และมีสละสดให้รับประทานฟรี ดูแปลงไร่นาสวนผสม ถ่ายรูปตามจุด(Check In) ภายในสวน กิจกรรมคั่วกาแฟ และดื่มกาแฟที่คั่วเอง ซึ่งเป็นเมล็ดกาแฟพันธุ์โรบัสต้าที่ทางสวนปลูกเอง การให้บริการที่พักโฮมสเตย์ มีร้านค้าสำหรับขายเครื่องดื่มให้ผู้สนใจได้เลือกชม ชิม และซื้อของฝากของที่ระลึกติดมือกลับบ้านได้
ผู้สนใจสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำสวนสละกับปราชญ์เกษตรดีเด่นประจำปี 2562 ได้ที่ "สวนสละอาทิตย์" หมู่ 1 ตำบลคลองปราบ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทร. 08-1968-3602 และติดตามกิจกรรมของสวนสละอาทิตย์ได้ทางเฟซบุ๊คสละอาทิตย์ และทางเว็บไซต์ www.สละอาทิตย์.com ได้ตลอดเวลา