ศ.ดร.สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า "Leiden" ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีผลงานวิจัยระดับโลก ผ่านการจัดอันดับที่เรียกว่า "CWTS Leiden Ranking 2019" ซึ่งการจัดอันดับนี้พิจารณาจากผลงานวิจัยเพียงอย่างเดียว ที่มี impact ที่สุดก็คือผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารฐานข้อมูล Web of Science หรือที่เราเคยเรียกกันว่า "ISI" ที่มีแต่ผลงานและวารสารที่มีคุณภาพสูง ซึ่งผู้จัดอันดับคือมหาวิทยาลัย Leiden จาก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้จัดอันดับของมหาวิทยาลัยต่างๆโดยใช้จำนวนผลงานวิจัยจาก ISI หรือ ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพระดับ Top 1% 5% 10% 50% ของวารสารที่มีคุณภาพต่างๆ
ทั้งนี้ เมื่อดูจากผลการจัดอันดับในปี 2019 (ข้อมูลจากผลงานวิจัยย้อนหลัง 4 ปีคือ 2014-2017) และดูจากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่มีผลงานตีพิมพ์ระดับ Top 1% ของวารสาร คือวารสารที่ดีที่สุด 1% แรก ที่มี impact ปรากฎว่าในภาพรวมมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับการจัดอันดับทื่ 3 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย รองจากมหาวิทยาลัยมหิดลและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น ในขณะที่เมื่อพิจารณาจากการจัดอันดับในกลุ่มสาขาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Biomedical and health sciences) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยในประเทศไทยมี 5 มหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตามลำดับ
ศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผลมาจากการดำเนินงานขับเคลื่อนภารกิจต่างๆที่ปรากฎผลชัดเจนและนำไปสู่การได้รับการจัดอันดับดังกล่าวหลายโครงการ เช่น โครงการพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี โดยมี รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว คณะแพทยศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ เข้าไปแก้ปัญหาให้กับประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 20 จังหวัด ภาคเหนือ 8 จังหวัด และภาคตะวันออกอีก 1 จังหวัด นอกจากนี้ยังเข้าไปให้ความช่วยเหลือในการคัดกรองผู้ป่วยใน สปป.ลาว, โครงการป้องกันและชะลอโรคไตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี รศ.พญ.ศิริรัตน์ อนุตระกูลชัย คณะแพทยศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ในการให้ความรู้ที่เกี่ยวกับโรคไตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคใต้อีก 3 จังหวัด และมีศูนย์วิจัยเฉพาะทางด้านสุขภาพที่มีความชำนาญ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนวัยแรงงาน, ศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี, ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์, ศูนย์วิจัยโรคเมลิออยโดสิส, ศูนย์วิจัยและบริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อระบาดใหม่, ศูนย์วิจัยผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ฯภายใต้โครงการตะวันฉาย, ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านเพศสภาวะและสุขภาพสตรี, ศูนย์วิจัยพัฒนาการแพทย์ทางเลือกแบบบูรณาการ, ศูนย์วิจัยปวดหลัง ปวดคอ ปวดข้ออื่นๆ และสมรรถนะของมนุษย์ นอกจากโครงการเหล่านี้ยังมีอีกหลายโครงการ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ นำไปสู่การแก้ปัญหา พัฒนาได้ตรงจุด ตอบโจทย์ของชุมชน สังคม และ ภูมิภาคได้อย่างแท้จริง