Innovative house เสริมกระบวนการวิจัยและพัฒนาให้ SMEs ไทย ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเวชสำอาง

ศุกร์ ๒๔ พฤษภาคม ๒๐๑๙ ๑๖:๕๘
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร และความสามารถในการผลิตวัตถุดิบ อีกปัจจัยสำคัญหนึ่งต่อการเติบโต คือ "การนำการวิจัยและพัฒนา (Research and development : R&D) มาเสริมมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์"

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. เดิม) เผยว่า ฝ่ายอุตสาหกรรมมีพันธกิจในการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไทย โดยเรามุ่งเน้นไปที่อาหารและเวชสำอางซึ่งมีความต้องการในตลาดสูง และยังสามารถช่วยหนุนเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยการทำงาน "ชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House" เป็นการรับโจทย์วิจัยจากความต้องการของภาคเอกชน (Demand Driven) ภายใต้แนวคิด "วิจัยได้ ขายจริง" คุณพิมพ์ภิดา วิชญพิมพ์จุฬา ผู้ประสานงาน "ชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House" เสริมว่า การทำงานของเราเป็นการนำ R&D มาสนับสนุนการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเน้นไปที่กลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีมากในไทยแต่ยังขาดทุนในการทำวิจัยเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ โดยเราจะดูแลอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ด้วยงานวิจัย มาจับคู่กับทีมวิจัยที่เหมาะสม เพื่อร่วมกันพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ นอกเหนือไปจากหน้าที่ตามพันธกิจเรายังให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลด้านการตลาดเพื่อสร้างแผนธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงร่วมดูแลด้านการตลาด ทั้งในเชิงภาพลักษณ์ และการสื่อสารเพื่อการรับรู้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถออกขายทำกำไรได้จริง

คุณพิมพ์ภิดาเสริมว่า การทำงานของเราจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำอย่างเรื่อง "วัตถุดิบ (Raw material) ของประเทศ" ทั้งพืชผัก ผลไม้ สมุนไพร และเนื้อสัตว์ โดยเรามองไปถึงการแปรรูปและสกัดสารออกฤทธิ์สำคัญเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุดจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ นอกจากนั้นเรายังช่วยผู้ประกอบการมองถึงการสร้างความแตกต่างและความโดดเด่นที่จะเป็นข้อได้เปรียบเมื่อออกสู่ตลาด กระบวนการกลางน้ำเราช่วย "พัฒนากระบวนการผลิต (Process)" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า สุดท้ายปลายน้ำสิ่งที่เราช่วยหนุนเสริมคือเรื่องการตลาด (Marketing) เราช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ พัฒนาการสื่อสารเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ และการทดสอบตลาด โดยมีพี่เลี้ยงทางการตลาดให้คำแนะนำตลอดเส้นทาง ทั้งนี้เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมามีส่วนแบ่งในตลาด ถึงแม้อาจไม่ได้ไปถึงที่ 1 แต่สามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กล้วยตากแบรนด์ Banana Society ที่เราได้ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การผลิต ออกแบบโดมทรงพาราโบลาเพื่อใช้ในการอบกล้วยด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้ได้กล้วยตากที่สะอาดและปลอดภัย และยังเสริมความแตกต่างจากสินค้าเดิมในท้องตลาดด้วยการคิดค้นการแปรรูปเป็นรสชาติต่าง ๆ อร่อย ถูกใจ กลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ยังคงตำแหน่งการเป็นผู้ประกอบการเบอร์หนึ่งของวงการกล้วยตากมาได้ถึงปัจจุบัน

นอกจากการสนับสนุนในข้างต้นแล้ว Innovative House ยังผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเวชสำอางที่พัฒนาผลิตภัณฑ์จนประสบความสำเร็จ ได้เปิดตัวในเวทีนำเสนอผลงานนวัตกรรมต่อผู้ประกอบการชั้นนำจากทั่วโลกในเวทีต่าง ๆ โดยล่าสุดเวทีที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารกำลังจะได้เข้าร่วม คือ งาน "Thaifex 2019" งานแสดงสินค้านวัตกรรมด้านอาหารจากทั่วโลกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ในระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม ถึง 1 มิถุนายน 2562 โดยเป็นความร่วมมือในการสนับสนุนผู้ประกอบการระหว่าง Innovative House จากฝ่ายอุตสาหกรรม สกสว. กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ การออกงานครั้งนี้ Innovative House ได้คัดเลือก 40 ผลิตภัณฑ์ มาร่วมโชว์สินค้าใน 2 โซน โซนแรก Food Innovation Pavilion มีผู้ประกอบการร่วมออกบูธ 24 ราย และโซนที่สองบ้าน innovative House มีผู้ประกอบการร่วมออกบูธ 16 ราย นอกจากนี้ยังได้นำผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาวิจัยมาร่วมทดสอบผลตอบรับจากผู้บริโภคอีก 15 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสเจรจาธุรกิจกับผู้ค้าจากทั่วโลก สั่งสมประสบการณ์ และรับข้อเสนอแนะจากผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป

จากโมเดลการทำงานดังกล่าว "Innovative House" ได้ร่วมงานกับผู้ประกอบการและทีมวิจัยเป็นจำนวนมากมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและเวชสำอางหลายร้อยผลิตภัณฑ์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าความสำเร็จเหล่านั้น คือ การเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับและเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ไทย ในการนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงความรู้ด้านการตลาดไปพัฒนาองค์กร สร้างพื้นที่ให้นักวิจัยได้นำความรู้ความสามารถไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้ประกอบการและความต้องการของตลาด เกิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคธุรกิจและภาคการวิจัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเวชสำอางไทยให้สามารถยืนหยัดอยู่ในตลาดโลกได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ