นางสาวนงนุชฯ กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมอาหารเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคของกลุ่มเป้าหมาย การที่ลูกค้าตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารขึ้นกับปัจจัยหลายด้าน เช่น รสชาติ ราคา รูปลักษณ์ เป็นต้น โดยการรับรู้รสชาติอาหารของผู้บริโภคแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เช่น อายุ เพศ ภูมิกำเนิด ประสบการณ์ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคชาวไทยจะชอบรสชาติจัดจ้าน เผ็ด ร้อน แต่ผู้บริโภคชาวตะวันตกจะชอบรสชาติอ่อนๆ ดังนั้นการศึกษาพฤติกรรม ทัศนคติ ของลูกค้าด้านการรับรู้รสชาติของอาหารจึงมีความสำคัญ ผู้ประกอบการอาหารจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคด้านรสชาติอาหาร ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการอาหารสามารถพัฒนานวัตกรรมอาหารให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคได้ ดังนั้นจำเป็นต้องมีการประยุกต์ใช้การทดสอบผู้บริโภคทางประสาทสัมผัสในขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารชนิดใหม่ เช่น การทดสอบความชอบและการยอมรับผลิตภัณฑ์ การทดสอบบรรยายเชิงพรรณนา เป็นต้น
กรมวิทยาศาสตร์บริการ มีห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพอาหารทางประสาทสัมผัส และบุคลากรที่ผ่านการอบรม ฝึกฝนทางประสาทสัมผัส ร่วมกับภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จึงได้จัดทำหลักสูตรการอบรมดังกล่าวขึ้น การอบรมจะมีภาคทฤษฎีและปฏิบัติในหัวข้อต่างๆ อาทิ การทดสอบความชอบและการยอมรับผลิตภัณฑ์อาหารของผู้บริโภค ด้วยเทคนิค 9-Point hedonic scale, Acceptance และ Just about right หัวข้อการใช้ข้อมูลจากการทดสอบผู้บริโภคควบคู่กับการทดสอบทางประสาทสัมผัสเชิงพรรณนา(Descriptive analysis) เป็นต้น เพื่อให้ความรู้และทักษะการทดสอบทางประสาทสัมผัสและการปฏิบัติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เสริมสร้างความเข้มแข็งธุรกิจอาหารของประเทศต่อไป