การค้าสินค้าเกษตร (พิกัดศุลกากร 01 – 24) และยางพาราธรรมชาติ (พิกัดศุลกากร 4001) ในช่วงมกราคม – มีนาคม 2562 จากไทยไปยังอาเซียน พบว่า มูลค่าการค้ารวม 107,160 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.56 จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561 โดยมี มูลค่าการส่งออก 80,202 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.08 จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561 และมูลค่าการนำเข้า 26,958 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.69 จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561 อย่างไรก็ดีในภาพรวมแล้วไทยได้เปรียบดุลการค้าอาเซียนเป็นมูลค่า 53,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.02 จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561
สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและยางพาราธรรมชาติของไทยไปยังอาเซียนเป็นรายประเทศ พบว่า ไทยส่งออกไปยังเวียดนามมีมูลค่าเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22 รองลงมา ได้แก่มาเลเซีย ร้อยละ 17 อินโดนีเซีย ร้อยละ 16 กัมพูชา ร้อยละ 12 ตามลำดับ และหากพิจารณาดุลการค้า พบว่า ไทยได้เปรียบดุลการค้าของสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เวียดนามเป็นอันดับหนึ่ง โดยคิดเป็นมูลค่าที่ได้เปรียบดุลการค้าเท่ากับ 13,154 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย 10,146 ล้านบาท อินโดนีเซีย 7,698 ล้านบาท กัมพูชา 5,892 ล้านบาท และฟิลิปปินส์ 5,569 ล้านบาท ตามลำดับ
นอกจากการติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนแล้ว สศก. ยังได้ติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับตลาดหลักที่เป็นคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป และจีน โดย พบว่า ไตรมาส 1 ปี 2562 ไทยได้เปรียบดุลการค้า จีน จำนวน 31,861 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา จำนวน 11,564 ล้านบาท ญี่ปุ่น จำนวน 35,200 ล้านบาท และสหภาพยุโรป จำนวน 18,215 ล้านบาท ซึ่งช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 สถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยมีทิศทางดีขึ้น มีการขยายตัวของการส่งออกในตลาดอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งเป็นผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลดลง แต่การส่งออกไปยังตลาดจีนนั้น ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ซึ่งอาจเป็นผลกระทบจากนโยบายตอบโต้สงครามการค้าของจีน ที่มีการพึ่งพาตนเอง บริโภคสินค้าภายในประเทศ และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ไทยควรขยายตลาดสินค้าเกษตรสำคัญๆ เช่น กลุ่มผลไม้ ไปยังตลาดอื่นๆ ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อทดแทนการพึ่งพาตลาดจีน และลดการแข่งขันกับประเทศเวียดนามที่เป็นคู่แข่งของไทยในกลุ่มสินค้าผลไม้ โดยมีข้อได้เปรียบไทยในเรื่องการมีพรมแดนติดกับจีน จึงทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งที่ต่ำกว่า และมีระยะเวลาการขนส่งน้อยกว่า