นายธีระวิทย์ ลิ้มทองสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส เรียลเอสเตท แอ็ดไวเซอรี่ จำกัด (Mr. Teerawit Limthongsakul, Managing Director of Nexus Real Estate Advisory) กล่าวว่า การซื้อขายที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรม (Industrial Land Plot) มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมในปีที่ผ่านมา พบว่า ราคาซื้อขายที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรมมีการปรับตัวสูงขึ้นถึง 10% จากปีที่แล้ว โดยเฉพาะราคาที่ดินในเขต Eastern Bangkok Zone หรือเขตอุสาหกรรมในลาดกระบัง บางพลี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี ที่เพิ่มขึ้นกว่า 13 % โดยอันดับรองลงมา ได้แก่ พื้นที่ใน Eastern Seaboard หรือพื้นที่ในจังหวัดชลบุรี และระยองที่มีการพัฒนาพื้นที่เผื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษด้านตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตตามแผนของรัฐบาล และอานิสงส์จากราคาซื้อขายที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการในการขายเพิ่มขึ้นด้วย โดยภาพรวมแล้ว มีจำนวนพื้นที่ทั้งหมดที่สามารถซื้อขายได้มีเพิ่มมากขึ้นอีกกว่า 20,000 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 20% จากปี 2560 โดยพื้นที่อุตสาหกรรมที่นำมาขายสู่ตลาดมากที่สุด คือ พื้นที่ในเขต Eastern Seaboard
ภาพรวมตลาดโรงงาน และคลังสินค้าให้เช่า (Rental Factory and Warehouse) ในปีนี้ ยังคงมีเสถียรภาพมาก เนื่องจากอัตราการเช่ามีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยได้รับผลจากสงครามทางการค้าจีน-สหรัฐฯ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนจีนให้ความสนใจมาลงทุน โดยในปีที่ผ่านมา ภาพรวมอัตราค่าเช่าเฉลี่ยโรงงาน ปรับเพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน คืออยู่ที่ประมาณ 200 บาท/ตารางเมตร/เดือน โดยใน Northern Bangkok Zone (อยุธยา-ปทุมธานี) มีการขยับตัวของค่าเช่าสูงที่สุดถึง 10% Y-o-Y แต่ในแง่ของอัตราการเช่า (Occupancy rate) Northern Bangkok Zone ยังทำได้ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับโซนอื่นๆ โดยราคาค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 195 บาท/ตารางเมตร/เดือน
ในส่วนราคาค่าเช่าเฉลี่ยคลังเก็บสินค้ายังคงตัวอยู่ที่ ประมาณ 150-160 บาท/ตารางเมตร/เดือน โดย Eastern Bangkok Zone สามารถทำราคาเฉลี่ยสูงสุดที่ 170 บาท/ตารางเมตร/เดือน ในแง่ของอัตราการเช่า Northern และ Eastern Bangkok Zone มีอัตราเช่าที่ดีที่ประมาณ 90% โดยในภาพรวมทั้งหมด โรงงานและคลังเก็บสินค้าอัตราการเช่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีประมาณ 80-85%
ทั้งนี้ ผู้พัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมฯ รวมถึงโครงการพื้นที่เช่ายังคงให้ความสำคัญกับโครงการ EEC ถึงแม้ว่าแผนงานดังกล่าว ยังเป็นแผนงานที่รอรัฐบาลชุดใหม่เข้าสานต่อก็ตาม ในขณะที่ความพร้อมทั้งพื้นที่และบุคคลากรส่งผลให้ตลาดอุตสาหกรรมมีการขยายตัวทั้งด้านพื้นที่ขายและเช่า โดยเฉพาะพื้นที่ในบริเวณ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ที่มีการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง หากโครงการ EEC ได้รับการสานต่อจะส่งผลให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โครงการรถไฟรางคู่ที่เชื่อมต่อประเทศในอาเซียน โครงการขยายสนามบินอู่ตะเภา รวมไปถึงการขยายท่าเรือที่จะเป็นปัจจัยบวกต่อระบบโลจิสติกที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และจะส่งผลภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าวขยายตัวดีมากยิ่งขึ้น