นายแพทย์ดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.– 14 พ.ค. 62 ประเทศไทยพบผู้ป่วย 20,733 ราย เสียชีวิต 25 ราย (ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 5-14 ปี รองลงมาได้แก่ 15 -34 ปี และแรกเกิด ถึง 4 ปี ตามลำดับ) ส่วนในพื้นที่ 5 จังหวัด เขตสุขภาพที่ 10 ได้แก่ (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร) มีรายงานผู้ป่วย 1,720 ราย เสียชีวิต 3 ราย พบผู้ป่วยมากสุดที่ จ.อุบลราชธานี 822 ราย รองลงมาคือ จ.ศรีสะเกษ 567 ราย
นายแพทย์ดนัย กล่าวอีกว่า การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพ คาดว่าในช่วงนี้จะพบผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน มีฝนตกมากขึ้น เหมาะสมต่อการเพาะพันธุ์ของยุงลาย สิ่งสำคัญในการป้องกันโรคไข้เลือดออก คือ " ป้องกันไม่ให้ยุงเกิด และป้องกันไม่ให้ยุงกัด " จึงขอความร่วมมือประชาชนทุกคนช่วยกันป้องกันไม่ให้ยุงเกิด ก็คือ การกำจัดลูกน้ำยุงลาย และการป้องกันไม่ให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายนั่นเอง ซึ่งขอให้ปฏิบัติตามมาตราการ 3 เก็บ คือ 1) เก็บบ้าน ให้สะอาด ให้โปร่ง โล่ง ไม่ให้เป็นที่เกาะพักของยุงลาย 2) เก็บขยะเศษภาชนะ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย 3) เก็บน้ำ ปิดภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่ รวมทั้ง การเลี้ยงปลากินลูกน้ำในอ่างบัว การขัดล้างขอบภาชนะ เพื่อขัดไข่ยุงลายก่อนล้างภาชนะ ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติ 3 เก็บ อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ส่วนการป้องกันยุงกัด ได้แก่ ทายากันยุง จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า นอนกางมุ้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกยังมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง เช่น การซื้อยามากินเอง หรือใช้ยาแก้ปวดลดไข้ประเภทแอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือ กลุ่มเอ็นเสด และ สเตียรอยด์ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะ เลือดออกได้ง่ายและเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ดังนั้นหากมีไข้สูงลอยระยะนี้ ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นไข้เลือดออก ขอให้ใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล และการเช็ดตัวลดไข้ หากเป็นไข้แล้ววันที่สองไข้ไม่ลดลงให้รีบไปพบแพทย์ หรือไปสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422.