ปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากกลุ่มบุญรอดฯ ปรับโครงสร้างธุรกิจ ขยายสู่เสาหลักใหม่ ใน 1 ปีที่ผ่านมา ตนได้ทำหน้าที่ดูแล 2 เสาหลัก ได้แก่ ซัพพลายเชน และธุรกิจอาหาร โดยธุรกิจอาหารวางแผนบุกในการผลิตสินค้าคุณภาพ ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค เพื่อสร้างการเติบโตภายใน 3 ปี
สำหรับแผนธุรกิจเบื้องต้น มีการปรับโครงสร้างธุรกิจอาหาร เพื่อให้มีศักยภาพและความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยมีการรวบรวมบริษัทในเครือทั้งหมดที่เคยแยกกันบริหารงาน ผลิตสินค้าสร้างยอดขายประมาณ 400-500 ล้านบาทต่อบริษัท มาอยู่ภายใต้ "ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส" อาทิ ธุรกิจข้าวถุงพันดี, ร้านอาหารเอส33, ร้านฟาร์มดีไซน์, ร้านอาหารญี่ปุ่น Kitaohji, โรงงานผลิตสินค้ากลุ่มอาหารเฮสโก ฟู้ด อินดัสทรี และเฮสโก โซลูชั่น, โรงงานผลิตเครื่องดื่มวราฟู้ดส์ เป็นต้น และรวมทีมงานให้มาอยู่ในศูนย์กลางประมาณ 150 คน เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในเชิงรุก
ทั้งนี้ การผนึกกำลังกันของกลุ่มธุรกิจอาหาร ส่งผลให้ขนาดของธุรกิจใหญ่ขึ้น และประมาณการรายได้รวม 4,500 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภายใน 3 ปีข้างหน้า บริษัทต้องการผลักดันรายได้ให้กลับไปยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งที่ระดับ 5,000 ล้านบาท มีอัตรากำไรสุทธิ 8-15% สอดคล้องกับมาตรฐานธุรกิจ และมุ่งทะยานสู่ระดับ 10,000 ล้านบาท จากนั้นจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน ต่อยอดการเติบโตธุรกิจต่อไป
สำหรับแผนในการมุ่งสร้างรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย บริษัทวางแผนในการวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดในหมวดหมู่สินค้าใหม่ๆ เช่น สินค้าพร้อมรับประทาน(Ready to eat :RTE) อาหารพร้อมปรุง(Ready to cook :RTC) เนื่องจากบริษัทมีการสร้างห้องปฏิบัติการด้านอาหาร(Food Lab) ไว้รองรับการพัฒนาสินค้าเรียบร้อยแล้ว ด้านโรงงานผลิตสินค้า ยังมีพื้นที่ในการขยายกำลังการผลิตสินค้าในเครือ และรับจ้างผลิตสินค้านอกเครือ(OEM)ให้กับแบรนด์ไทยและต่างประเทศ
บริษัทยังมองโอกาสในการซื้อและควบรวมกิจการ(M&A) การร่วมทุน(Joint venture) ถือหุ้นส่วนน้อยและส่วนมาก รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับธุรกิจอาหารแบรนด์อื่นๆเพิ่มเติมเพื่อขยายตลาด สร้างการเติบโต
"จากนโยบาย นายสันติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ต้องการให้เราขยายสู่ธุรกิจใหม่ๆมากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนระยะยาว ส่วนการขยายธุรกิจอาหาร ผมได้โจทย์สำคัญ คือต้องทำให้บริษัท Take off ให้ได้ภายใน 3 ปี โดยวิธีการจะไปให้ถึงเป้าหมาย เริ่มจากการปรับโครงสร้างองค์กรและสินค้า วางแผนพัฒนาสินค้าใหม่ ขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าให้กว้างขวางครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย วางแผนในการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับแบรนด์อื่นๆ ขณะที่หัวใจการของการทำธุรกิจอาหาร เบื้องต้นจะต้องผลิตสินค้าอร่อย มีคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค"
"ธุรกิจอาหารมีการเติบโตทุกเซ็กเมนต์ มากน้อยแตกต่างกันไป โดยตลาดที่มีมูลค่าระดับ 9 หมื่นล้านบาท อาจโตไม่มาก ส่วนตลาดที่มีขนาด 2-3 หมื่นล้านบาท สามารถเติบโตในอัตรา 2 หลัก เช่น กลุ่มอาหารพร้อมปรุงและพร้อมทาน อย่างไรก็ตาม
ปิติ กล่าวเสริมว่า ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส ก่อตั้งมาประมาณ 1 ปีเศษ การปรับโครงสร้างครั้งนี้ แล้วเสร็จ 95% โดยที่ผ่านมา บริษัทมีการขออนุมัติกรอบวงเงินเพื่อลงทุน 2,500 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจภายใน 3 ปี ซึ่งขณะนี้เหลือระยะเวลาอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง และการรุกหนักธุรกิจอาหาร บริษัทจึงมองกรอบการลงทุนขั้นต่ำประมาณ 5,000-8,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจในอนาคต และนอกจากนี้ยังจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมในการวิจัยและพัฒนาสินค้าด้านอาหาร(Food Innovation Center) โดยมีทีมงานวิจัยมืออาชีพในการคิดค้น นำเสนอสินค้าใหม่ ภายใต้การผลิตที่ใช้เทคโนยีทันสมัย รองรับความต้องการลูกค้าได้อย่างหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในแผนระยะยาว ยังมองการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอาหารบนพื้นที่ 2,000 ไร่ จังหวัดอ่างทอง เพื่อให้การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ครบวงจรในพื้นที่เดียว