นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การพัฒนาคู่ค้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย ณ อาคารซี.พี.ทาวเวอร์ ชั้น 30 ถนนสีลม กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ นายไพศาล เครือวงศ์วานิช รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) โดยนายวิวัฒน์ ได้เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันต้องอยู่บนพื้นฐานกรอบจริยธรรม มีความรับผิดชอบด้านสังคม และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล จึงจะสามารถยืนหยัดอยู่บนเวทีการค้าโลกได้ ดังนั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงได้มุ่งมั่นที่จะส่งเสริม และขับเคลื่อนให้สถานประกอบกิจการนำระบบมาตรฐานแรงงานไทย หรือ มรท.8001-2553 (Thai Labour Standard : TLS) ซึ่งเทียบเท่ามาตรฐานสากลไปใช้ในการพัฒนาการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดเงื่อนไขทางการค้าด้านแรงงาน โดยในปี 2561 มีสถานประกอบกิจการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยแล้ว จำนวน 1,537 แห่ง เป็นผู้ประกอบกิจการส่งออก 719 แห่ง คิดเป็นมูลค่าการส่ง 258,870 ล้านบาท ส่งผลให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า 3 แสนคน และคาดว่าในปี 2562 จะมีกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกตลอดห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยเพิ่มมากขึ้น
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ กล่าวต่อว่า สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ในวันนี้ ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการร่วมกันพัฒนาสถานประกอบกิจการให้มีระบบบริหารจัดการด้านแรงงานได้ตามมาตรฐานแรงงานไทย โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน และสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจไทย โดยเฉพาะสถานประกอบกิจการระดับห่วงโซ่การผลิต หรือ Supply Chain ซึ่งเป็นกลุ่มคู่ค้าธุรกิจขนาดกลาง มีแรงงานต่อสถานประกอบกิจการเฉลี่ย 15 -20 คน ทั้งนี้ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) เป็นสถานประกอบกิจการที่ประกอบธุรกิจส่งวัตถุดิบให้แก่บริษัทในเครือซีพีซึ่งเป็นบริษัทส่งออกรายใหญ่ และมีผู้ประกอบการเครือข่ายกว่า 300 ราย มีแรงงานเกี่ยวข้อง รวมกว่า 6,000 คน การ MOU ในครั้งนี้ได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันคือจะต้องมีผู้ประกอบการอย่างน้อย 300 รายเข้าร่วมและ ผ่านการประเมินตนเองตามข้อกำหนดของมาตรฐานแรงงานไทย ซึ่งกำหนดระยะเวลาสัมฤทธิ์ผลภายใน 3 ปี โดยในปีที่ 1 ตั้งเป้าให้มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 120 ราย จากนั้นเพิ่มขึ้น 100 รายในปีที่ 2 และเพิ่มขึ้น 80 รายในปีที่ 3 รวม 300 ราย ทั้งนี้ กสร. มุ่งหวังว่าการ MOU กับภาคเอกชนในครั้งนี้จะทำให้สถานประกอบกิจการมีระบบการบริหารจัดการด้านแรงงานได้ตามมาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าที่ผลิตจากประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือมีการใช้แรงงานอย่างมีจริยธรรม เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตลูกจ้าง สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในเวทีการค้าโลกได้อย่างยั่งยืน