การประชุมดังกล่าว ประเทศสมาชิกได้ทบทวนสถานะโครงการร่วม และหารือเกี่ยวกับปัญหาการขาดแหล่งเงินทุน ของบางประเทศ ซึ่งทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการร่วมได้ และเห็นชอบให้สำนักเลขาธิการ BIMSTEC หารือกับหน่วยงานประสานหลัก (National Focal Point หรือ กระทรวงการต่างประเทศ) ของประเทศสมาชิก เพื่อพิจารณาในการสนับสนุนกองทุน (Corpus Fund) สำหรับภาคเกษตร โดยการจัดสรรเงินในการสนับสนุนกองทุนให้เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของ BIMSTEC
นอกจากนี้ ได้เห็นชอบให้ดำเนินการต่อเนื่องสำหรับโครงการร่วมที่ได้ดำเนินการแล้ว ในหัวข้อการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งการส่งเสริมการค้าและการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน เพื่อให้เกิดประโยชน์และสร้างความสมดุลของการพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตรแก่ประเทศสมาชิก และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาสำหรับนักศึกษาจากประเทศสมาชิก เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาการเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้อง
สำหรับความร่วมมือเชิงลึกในภาคเกษตร จะมีการยกระดับกลไกการทำงานในระดับรัฐมนตรีด้านการเกษตร เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาการเกษตรของภูมิภาคในเชิงลึกและเข้มแข็งมากขึ้น โดยเมียนมา ในฐานะประเทศนำในสาขาเกษตร ได้กำหนดจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการเกษตรภายใต้กรอบ BIMSTEC ครั้งที่ 1 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการเกษตรภายใต้กรอบ BIMSTEC ครั้งที่ 1 ณ กรุงเนปิดอร์ ประเทศเมียนมา ในวันที่ 11- 12 กรกฎาคม 2562 ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ BIMSTEC เป็นกรอบความร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจ ที่เชื่อมโยงประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่ไทยและเมียนมาเป็นประเทศอาเซียนเพียง 2 ประเทศ ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในกรอบ BIMSTEC จึงส่งผลให้ไทยอยู่ในสถานะเป็นสะพานเชื่อมโยงภูมิภาคทั้งสอง ซึ่งที่ผ่านมาไทยให้ความสำคัญและมีความยินดีที่จะสนับสนุนความร่วมมือด้านการเกษตรของไทยกับนานาชาติในกรอบพหุภาคีอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด โดยไทยรับผิดชอบเป็นประเทศผู้ประสานงานในโครงการ GAP และเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในโครงการ GAP มาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี 2555 และปี 2559 รวมถึงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญความร่วมมือด้านการเกษตรของ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ในปี 2560
รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับการดำเนินงานต่อไป ไทยได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร ในปี 2564 ซึ่งไทยเห็นว่าประโยชน์มากสำหรับประเทศสมาชิก BIMSTEC จะสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับเกี่ยวกับการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตเกษตรกรในกลุ่มประเทศสมาชิก BIMSTEC ต่อไป