นางสาวพจณี คงคาลัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนโครงการสตาร์ทอัพสำหรับนักศึกษาเพื่อร่วมส่งเสริมให้เกิดการแสดงความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ๆ ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขปัญหาอันเป็นประเด็นทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน โดยล่าสุดได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับพัฒนาโซลูชั่นต้นแบบและการนำมาประยุกต์ใช้จริง แก่ทีม 'CHECKPOINT' ผู้ชนะจากกิจกรรมระดมไอเดียทางธุรกิจ 'Hackathon ปีที่ 1' จัดร่วมกันกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สำหรับ ทีม 'CHECKPOINT' ได้นำเสนอโซลูชั่นใหม่ที่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนไทยสามารถเริ่มต้นออกกำลังกายได้ง่ายๆ เพียงสะสม "ก้าวเดิน" ในทุกวัน เพื่อนำไปแลกสินค้าหรือโปรโมชั่นต่างๆ กับร้านค้าที่ร่วมรายการ หรือสามารถนำไปร่วมบริจาคกับโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ได้อีกด้วย
"ธนาคารกรุงเทพมีนโยบายสนับสนุนโครงการหรือธุรกิจในกลุ่มสตาร์ทอัพ เพื่อร่วมส่งเสริมให้ประเทศไทยมีการพัฒนา Digital Ecosystem เพิ่มมากขึ้น รวมถึงในกลุ่มนักศึกษาที่มีศักยภาพและความสามารถ แต่อาจจะยังขาดโอกาส ประสบการณ์ และงบประมาณ ซึ่งธนาคารสามารถช่วยเติมเต็มได้ ตลอดจนบุคลากรมืออาชีพที่จะช่วยให้คำแนะนำเพื่อการพัฒนาโซลูชั่นให้ตอบโจทย์การใช้งานได้ตรงความต้องการยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสดีที่ธนาคารได้มีส่วนร่วมผลักดันโซลูชั่นที่ดีให้เกิดขึ้น และออกมาสร้างสรรค์ประโยชน์ในสังคมได้จริงกับทุกเพศทุกวัย" นางสาวพจณี กล่าว
ด้านศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในส่วนของฝ่ายกิจการนักศึกษา ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามนโยบายและกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นให้นักศึกษา มีคุณลักษณะ GREATS มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) รุ่นใหม่ ทั้งในระดับการเรียนการสอน การจัดฝึกอบรม การจัดตั้งธุรกิจจริงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธรรมศาสตร์ให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ ฝ่ายกิจกรรม Hackathon โดยความร่วมือกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงเกิดแอปพลิเคชัน 'Checkpoint' เป็นอีกหนึ่ง Startup ที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจ ชวนคนไทยหันมาออกกำลังกายให้มากขึ้นด้วยการสะสมก้าวเดิน นอกจากนี้ กองกิจการนักศึกษายังมีแอปพลิเคชัน Mind Mood และ Garoo ที่เป็นอีกหนึ่ง Solution ในการพัฒนาให้เป็นแอปพลิเคชันสำหรับการประเมินปัญหาด้านจิตใจเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง และการจัดการปัญหาด้านจิตใจเบื้องต้น ตลอดจนการขอรับคำปรึกษาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต และในเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยกำลังจัดโครงการเสริมสร้างนักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการด้านสังคม Social Startup หรือ (SS-Project) เพื่อพัฒนาโครงการสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคม จากนั้นจะมีกิจกรรม Pitch Deck กับนักลงทุน สำหรับนักลงทุนท่านใดสนใจ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
นายพีรวัส เตียวเจริญ ตัวแทนจากทีม CHECKPOINT กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่า "อะไรเป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกายของคนไทย" และค้นจนพบคำตอบว่าอุปสรรคที่สำคัญก็คือ "การขาดแรงจูงใจ" โดยเฉพาะในขั้นเริ่มต้นที่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการออกกำลังกายจะต้องไปฟิตเนส หรือไปเล่นกีฬาเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงคนเรามีกิจกรรมที่ช่วยขยับร่างกายได้ง่ายๆ อยู่แล้ว คือ การเดิน ทีมจึงหาวิธีที่ช่วยกันเปลี่ยนให้การก้าวเดินที่เราทำกันอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ให้สามารถเดินได้มากขึ้น
โซลูชั่นที่ทีมนำเสนอก็คือ แอปพลิเคชัน 'CHECKPOINT' ที่จะช่วยสะสมก้าวเดินให้มีค่าเปรียบเสมือนค่าเงิน 1,000 ก้าว มีค่าเท่ากับ 1 บาท ที่สามารถนำไปแลกเป็นสินค้าหรือโปรโมชั่นกับร้านค้าที่ร่วมรายการได้ง่ายและฟรี เพื่อเป็นแรงจูงใจในการออกกำลังกาย และยังสามารถนำก้าวเดินที่สะสมได้ไปร่วมบริจาคกับโครงการช่วยเหลือสังคมต่างๆ เพื่อร่วมแบ่งปันให้กับคนในสังคมได้ด้วย
"ไอเดียนี้มีแรงบันดาลใจมาจากโครงการก้าวคนละก้าวของพี่ตูน เราเชื่อว่ามีหลายคนที่อยากร่วมแบ่งปันแบบนี้บ้าง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะออกวิ่งเหมือนอย่างพี่ตูนได้ เพราะแต่ละคนก็อาจจะไม่ได้มีเวลาหรือแข็งแรงในระดับที่จะทำได้อย่างพี่ตูน แล้วทำอย่างไรที่คนทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้ในแบบของตัวเอง จึงเป็นที่มาของแอปฯ นี้ ที่จะเปลี่ยนความหมายของกิจกรรมที่เราทำอยู่ทุกวันอย่างการเดิน ให้กลายเป็นประโยชน์ให้ตัวเอง หรือเป็นโอกาสที่จะได้ช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย ฉะนั้น ทุกคนสามารถเป็นฮีโร่ได้ด้วยแอปฯ นี้"
นายพีรวัส กล่าวอีกว่า แอปพลิเคชัน CHECKPOINT จะพร้อมเปิดให้ดาวน์โหลดไปใช้งานได้ในวันที่ 16 มิ.ย 2562 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ เช่น ร้านค้า และผู้จัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพต่างๆ เพื่อร่วมกันนำเสนอสิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่าให้แก่ผู้ใช้แอปพลิเคชัน.