อธิบดีกพร. กล่าวว่า นอกจากตรวจเยี่ยมการฝึกอบรมแล้ว จะร่วมหารือกับตัวแทนจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย และผู้บริหารสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เกี่ยวกับความร่วมมือพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ เพื่อรองรับธุรกิจขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ เพื่อติดตามความคืบหน้า เกี่ยวกับการฝึกอบรมผู้ที่จบ ป.ตรี หลักสูตร ธุรกิจขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งได้ร่วมหารือการพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรของ สปป.ลาว และความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจากปัจจุบันการค้าและการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศไทยและสปป.ลาวเพิ่มสูงขึ้น การพัฒนาบุคลากรให้กับประเทศในเขตติดต่อประเทศไทย จะช่วยให้เพิ่มความเข้มแข็งในภูมิภาคเอเชียด้วย ขณะที่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร ได้บูรณาการร่วมกับ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ฝึกอบรมให้กับแรงงานในชุมชนรอบท่าเรือทั้งในกรุงเทพฯ และขยายพื้นที่กลุ่มเป้าหมายไปยังภูมิภาคทั่วประเทศ อาทิ การฝึกขับเครื่องมือทุ่นแรง การจัดการสินค้าอันตราย การฝึกปฏิบัติงานปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า การฝึกขับรถคานเคลื่อนที่ยกตู้สินค้า การฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ เป็นต้น
ด้าน นายสมชาย บันลือเสนาะ ผอ.สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) และโรงเรียนธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ (ITBS) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ทำรายได้เข้าประเทศคิดเป็นร้อยละ 65-70 จาก 4 ธุรกิจหลักในภาคอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งประกอบด้วย 1. การขนส่งสินค้าและบริการระหว่างประเทศทางทะเล 2. การขนส่งสินค้าและบริหารทางอากาศ 3. การขนส่งสินค้าและบริการทางบก 4 ค่าธรรมเนียมผ่านพิธีศุลกากร หรือ ชิปปิ้ง และ 5. ศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศ มีสถานประกอบการประมาณ 20,000 – 30,000 แห่ง กำลังแรงงาน ประมาณ 2-3 แสนคน เฉพาะสมาคมฯเองมีสถานประกอบการที่ร่วมกลุ่มประมาณ 230 แห่ง บุคลากรประมาณ 20,000 คน มีแรงงานที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนปีละประมาณ 2,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งยังไม่เพียงพอ เนื่องจากแต่ละปีจะมีแรงงานบางส่วนที่เกษียณออกไป และมีสถานประกอบการที่เกิดขึ้นใหม่ด้วย ทำให้เกิดการขาดแคลนด้านแรงงาน กระทรวงแรงงาน โดยกพร. เล็งเห็นปัญหานี้จึงร่วมกับสมาคมฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจัดโครงการฝึกอบรมบุคลากรในด้านนี้เพื่อสนองความต้องการด้านแรงงาน และเตรียมความพร้อมให้แก่กำลังแรงงานที่จบการศึกษาในระดับป.ตรี เป็นความรู้เพิ่มเติมที่ไม่มีในหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัย
ผอ.สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) ฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการพัฒนาบุคลากรในประเทศ เรายังมีการอบรมให้ความรู้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยประเทศสปป.ลาวเป็นโครงการนำร่อง เนื่องจากใช้บริการในการขนส่งสินค้าและบริการผ่านไทยมายาวนาน เนื่องจากไม่มีพรมแดนติดกับทะเลอีกทั้งระบบขนส่งทางอากาศยังไม่ทันสมัยและเพียงพอที่จะรองรับระบบโลจิสติกส์ เพื่อเป็นการรักษาตลาดด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญไว้ เนื่องจากประเทศเวียดนามเองก็ตั้งเป้าที่จะบุกเบิกตลาดด้านโลจิสติกส์ในสปป.ลาวเช่นกันและเพื่อรองรับระบบอินฟาสตรัคเจอร์ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูงสาย ไทย –จีน-ลาว ท่าเรือน้ำลึก ถนนหนทางเชื่อมต่อพรมแดนระหว่างประเทศ ซึ่งหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ได้มีการดำเนินการคืบหน้าไปมาก นอกจากนี้ ยังมีการหารือในรายละเอียดของ 4 โครงการได้แก่ 1. แผนพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ในระยะต่างๆ 2.กรอบการดำเนินการด้านการพัฒนาโลจิสติกส์แห่งชาติ ในวงเงิน11.7 ล้าน ที่สมาคมฯได้เสนอไว้ต่อสภาพัฒน์ 3กรอบความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ให้แก่ประเทศสปป.ลาว และ4.แผนการฝึกอบรมบุคลากรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนติดเพื่อนบ้านด้วย .