ด้านราคายางแห้ง (ยางแผ่นรมควันและยางก้อนถ้วย) นั้นเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจาก กยท. เข้าไปประมูลยางแผ่นรมควันที่ตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา จ.นครศรีธรรมราช และ จ. สุราษฎร์ธานี อย่างต่อเนื่องตั้งเดือนตุลาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยซื้อในราคาที่เหมาะสมและชี้นำตลาด เพื่อนำไปขายให้กับโรงงานที่ยังมีความต้องการซื้อเพราะปริมาณยางในตลาดลดลง เนื่องจากผลผลิตยางถูกนำไปใช้แปรรูปในประเทศมากขึ้น ทำให้ราคายางแผ่นรมควันตลาดกลางปรับตัวสูงขึ้นจาก 40.00 บาท/กก. มาอยู่ที่ 55.00 บาท/กก. ส่วนราคาส่งออก FOB ท่าเรือกรุงเทพฯ ทะลุ 60.00 บาท/กก. ไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่31 พฤษภาคมที่ผ่านมา
สำหรับความคืบหน้าโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางที่รัฐบาลให้ กยท.เร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงราคายางตกต่ำ ภายใต้งบประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยจ่ายเงินไร่ละ 1,800 บาท ให้เจ้าของสวนยาง 1,100 บาท/ไร่ คนกรีดยาง 700 บาท/ไร่ สิทธิ์ไม่เกิน 15 ไร่/ราย ปัจจุบันจ่ายเงินเกิน 90% ของเป้าหมายแล้ว และคาดว่าจะจ่ายเงินได้ 100% ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายเดิมที่กำหนด อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาราคายางระยะยาว กยท.ได้ส่งเสริมให้ชาวสวนยางปลูกยางในพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อลดพื้นที่ปลูกยางที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากต้นทุนการปลูกสูงผลผลิตต่ำ อีกทั้งปัจจุบันสินค้าเกษตรทุกชนิดจะแข่งขันกันที่คุณภาพ กยท.จึงต้องหายางพันธุ์ดี เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตพร้อมหาวิธีการลดต้นทุน ผลักดันให้เกษตรกรเพิ่มมูลค่ายางด้วยการแปรรูปและพัฒนานวัตกรรมยาง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นคงในอาชีพ
"กยท. ส่งเสริมให้เกษตรกรนำยางดิบมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมด้านการศึกษาวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยียาง เพื่อประโยชน์ในด้านการลงทุนอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางที่ดีมีคุณภาพ ส่งขายทั่วโลก อันนี้คือแผนงานระยะยาวที่ กยท. ต้องสนับสนุนสถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน นักวิจัยยาง และนักลงทุนที่ต้องมาบูรณาการดำเนินงานร่วมกัน" รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. กล่าว