ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตของตราสารด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ดังกล่าวของ KTB อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิง (anchor rating) ที่ 'AA+(tha)' หนึ่งอันดับ เพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิ เนื่องจากตราสารดังกล่าวมีสถานะด้อยสิทธิ นอกจากนี้หนึ่งในข้อกำหนดสิทธิที่สำคัญของตราสารด้อยสิทธิดังกล่าวคือเรื่องปัจจัยที่แสดงว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (non-viability trigger) โดยมีการกำหนดไว้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อธนาคารกลางหรือทางการตัดสินใจเข้าให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคารเพื่อให้ธนาคารสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้และผู้ถือตราสารจะต้องรองรับผลขาดทุนในลักษณะการตัดเป็นหนี้สูญบางส่วนได้ (partial write-down) โดยไม่ได้เป็นการบังคับให้ตัดหนี้สูญทั้งจำนวน (mandatory full write-down)
นอกจากนี้ตราสารด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 นี้ จะมีลำดับในการได้รับชำระหนี้ก่อนตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) ที่มีคุณสมบัติสามารถรองรับผลขาดทุนได้ (loss absorption features) ส่วนในกรณีที่มีเหตุการณ์ให้เกิดการตัดหนี้สูญ ตราสารด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 นี้จะถูกตัดเป็นหนี้สูญในสัดส่วนที่เท่ากัน (pari passu) กับตราสารด้อยสิทธิชุดอื่นที่ออกโดยธนาคารที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 และมีคุณสมบัติสามารถรองรับผลขาดทุนได้โดยการตัดเป็นหนี้สูญ
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของ KTB ที่ 'AA+(tha)' เป็นอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิง ในการพิจารณาอันดับเครดิตของตราสารด้อยสิทธิดังกล่าว อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ KTB มีปัจจัยพิจารณามาจากอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor หรือ SRF) ที่ 'BBB' ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อรัฐบาลไทยและความสำคัญของธนาคารต่อระบบเศรษฐกิจ การใช้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวเป็นอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิงสำหรับตราสารด้อยสิทธิประเภทดังกล่าว เป็นแนวทางที่สอดคล้องกันกับการพิจารณาอันดับเครดิตตราสารด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 สกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ของ KTB ซึ่งฟิทช์ใช้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (SRF-driven Issuer Default Rating) เป็นอันดับเครดิตอ้างอิงเช่นกัน สำหรับตราสารด้อยสิทธิชุดนี้ ฟิทช์ยังคงเชื่อว่าอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำยังคงเป็นปัจจัยที่เหมาะสมที่สุดในการสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ธนาคารจะมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ (non-viability)
KTB มีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 55% KTB ยังคงเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเพียงแห่งเดียวและยังคงมีการดำเนินงานที่ใกล้ชิดกับกระทรวงการคลัง รวมทั้งยังคงทำหน้าที่ให้บริการจัดการเงินสด (cash management) แก่รัฐบาลไทย
ปัจจัยที่อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ KTB อาจส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตของตราสารด้อยสิทธิของธนาคาร
ในขณะเดียวกันอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของธนาคาร ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถของรัฐบาลในการให้สนับสนุน (capacity) หรือมุมของฟิทช์ต่อแนวโน้ม (propensity) ที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ KTB เป็นพิเศษนอกเหนือจากการสนับสนุนในด้านการดำเนินงานปรกติ (extraordinary support) ได้อย่างทันท่วงทีหากมีความจำเป็น