นางสาวนงนุชฯ กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจติดตามในจังหวัดสกลนครได้แก่ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์บริการได้สนับสนุนวิทยากรเข้าไปฝึกอบรมหลักสูตร การพัฒนากระบวนการผลิต เกี่ยวกับเทคนิคการปั้นแป้นหมุนให้ผลิตภัณฑ์แตกลายงา การเคลือบการตกแต่งด้วยเคลือบนูน และการปั้นดอกไม้เซรามิกดอกอินทนินน้ำ ช่วยให้สมาชิกกลุ่มได้รับความรู้สามารถนำไปประยุกต์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สวยงาม มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด และยังได้ลงพื้นที่กลุ่มทอผ้ากี่กระตุกบ้านนาวัว กลุ่มทอผ้าไหมผ้าฝ้ายย้อมคราม บ้านเหล่าใหญ่ ที่กรมวิทยาศาสตร์บริการได้มีการพัฒนา Color ID Lebeling เพื่อเพิ่มมูลค่าผ้าทอไทยสีธรรมชาติ และการพัฒนาผ้าฝ้ายทอมือย้อมครามธรรมชาติให้เป็นผ้ายีนส์ไทย การพัฒนาผ้าฝ้ายย้อมครามในรูปแบบยีนส์ โดยคงเอกลักษณ์ของการทอและย้อมครามแบบดั้งเดิมช่วยให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น สวยงามร่วมสมัย เป็นการมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าไทย และสร้างแบรนด์ยีนส์ไทยในตลาดสากล
นอกจากนี้ยังได้ลงพื้นที่กลุ่มเครื่องปั้นดินเผ่าบ้านเชียง ที่กรมวิทยาศาสตร์บริการได้จัดฝึกอบรมเทคนิคการตกแต่งผลิตภัณฑ์เซรามิกเนื้อดินแดง หัวข้อ การปั้นแป้นหมุน การตกแต่งสี และการนำเอนโกบไปตกแต่งผลิตภัณฑ์ พัฒนาการทำแบบพิมพ์สำหรับหล่อ การตกแต่งผลิตภัณฑ์ด้วยสี การแกะลวดลายหรือการใช้เอนโกบ ส่งเสริมกระบวนการผลิตให้ผลิตภัณฑ์สวยงามเพิ่มมูลค่าและรูปแบบสินค้าให้มีความหลากหลาย ผลักดันสินค้าเซรามิกให้สามารถยื่นขอการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และเตรียมความพร้อมให้สามารถแข่งขันในตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้ต่อไป