กยท. ดันสถาบันเกษตรกรฯ อีสาน ก้าวสู่บทบาทผู้ค้ายางก้อนถ้วยคุณภาพดี โรงงาน – ตลาดกลางยางฯ พร้อมรับซื้อในราคาเหมาะสมชี้นำตลาด

ศุกร์ ๐๗ มิถุนายน ๒๐๑๙ ๑๖:๒๒
เมื่อระหว่างวันที่ 6-7 มิถุนายน 2562 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดสัมมนาผู้นำสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระยะเริ่มต้น พัฒนา ก้าวหน้า ณ โรงแรมวีวิช จังหวัดขอนแก่น มุ่งผลักดันสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสาน สู่บทบาทผู้ค้ายางก้อนถ้วยที่ผลิตยางดี มีคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต ย้ำ โรงงาน - ตลาดกลางยางฯ ของ กยท. พร้อมรับซื้อวัตถุดิบยางในราคาที่เหมาะสมชี้นำตลาด

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า แนวทางการรักษาเสถียรภาพราคายางอีกหนึ่งแนวทาง คือ การควบคุมปริมาณผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเกษตรกรต้องผลิตยางก้อนถ้วยที่มีคุณภาพที่ดี ตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ และต้องรวมกลุ่มขายยางเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองในตลาด จะทำให้เกษตรกรขายยางได้ในราคาที่สูงขึ้น ทั้งนี้ กยท. โดยกองจัดการโรงงาน 5 และตลาดกลางยางพารา จ.หนองคาย จะรับซื้อยางก้อนถ้วยและเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างบริษัทเอกชนแปรรูปยางกับเกษตรกรชาวสวนยาง

"กยท. เองก็จะรับซื้อยางในราคาที่เหมาะสมชี้นำตลาด และพร้อมให้การสนับสนุนเงินแก่สถาบันเกษตรกร สำหรับนำไปปรับปรุงการผลิตเพื่อพัฒนาคุณภาพยางให้ดีขึ้น เช่น การขอเงินสนับสนุนเพื่อนำไปซื้อเครื่องจักรแปรรูปยางก้อนถ้วยเป็นยางเครป ซึ่งสามารถนำมาขายให้โรงงานของ กยท. แปรรูปเป็นยางแท่ง STR20 ต่อไป"

ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในงานสัมมนาครั้งนี้ กยท.ได้ลงนามความร่วมมือกับผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 4 สถาบัน ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางน้ำยืน จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางศรีอุบล จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางแคนดง จำกัด และสหกรณ์บุญทันยางพาราการเกษตร จำกัด เพื่อเป็นช่องทางในการซื้อขายผลผลิตยางของสถาบันเกษตรกรฯ ผ่านตลาดยางพาราและโรงงานรับซื้อยางของ กยท. ถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนและรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยใช้กลไกตลาด นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางในการพบปะ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลผลิต ผลิตภัณฑ์ยาง สร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับมาตรฐานคุณภาพให้ตรงตามความต้องการของตลาด

กยท. ได้วางแนวทางในการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางลดต้นทุนการผลิต โดยการปลูกยางในพื้นที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ลดพื้นที่ปลูกยางด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นทดแทน เป้าหมายปีละ 400,000 ไร่ สำรวจพันธุ์ยางดีและนำมาปลูกทดแทนพันธุ์ยางเก่า เพื่อให้ได้น้ำยางที่มีคุณภาพ รวมถึงการจัดการภายในสวนยางที่ถูกต้อง เช่น การใส่ปุ๋ยอย่างถูกวิธี ลดการใช้สารเคมีและสารกำจัดวัชพืช ตลอดจนดูแลสภาพแวดล้อมในสวนยาง นายเยี่ยมกล่าวทิ้งท้าย

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ กยท. ให้ความรู้แก่สถาบันเกษตรกรในเรื่องการบริหารจัดการสวนยาง การผลิต และการจัดจำหน่ายจนถึงกระบวนการขนส่ง โดยเน้นการผลิตยางก้อนถ้วยที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน GAP ตลอดจนสร้างความเข้าใจการดำเนินงานด้านธุรกิจของ กยท. และแผนธุรกิจ Long term contract ของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ทำร่วมกับหน่วยธุรกิจ (BU) ซึ่ง กยท. คาดหวังให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินงานของสถาบันเกษตรกรฯ ต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ