ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
ปัจจุบันปัญหาของผู้ป่วยโรคหืดทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านคนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหืดประมาณ 3 ล้านคน พบว่าโรคหืดจะเกิดในเด็กร้อยละ 10 ส่วนผู้ใหญ่ร้อยละ 5 และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณปีละ 1,500 คน เฉลี่ยถึง 3 คนต่อวัน โดยร้อยละ 70 ของการเสียชีวิตดังกล่าว สามารถป้องกันได้เนื่องจากวิถีชีวิตประจำวันของคนที่เร่งรีบทำให้มีอัตราเสี่ยงเป็นโรคหืดเพิ่มสูงขึ้นและผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ PM 2.5 ที่มีอนุภาคขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซ สามารถนำพาสารต่าง ๆ ล่องลอยอยู่รอบตัวเราได้ในปริมาณสูง จนเกิดเป็นหมอกควันที่ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ เมื่อสูดเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไป จะมีอาการระคายเคืองจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ รวมถึงเป็นอันตรายโดยตรงกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบการหายใจต่าง ๆ รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดก็มีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยจึงหยิบยกเรื่องของโรคหืด มาเพื่อเตือนและตระหนักสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและสังคมมากยิ่งขึ้น
โรคหืดเป็นโรคของหลอดลมที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นผิดปกติ เมื่อเจอสิ่งกระตุ้นหลอดลมจะหดเกร็งทำให้หลอดลมเล็กลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ หายใจมีเสียงวี้ด หายใจลำบาก หอบ เป็นๆ หาย ๆ โรคหืดไม่ใช่โรคติดต่อ แต่อาจจะถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์จากพ่อ แม่ไปสู่ลูกหลานได้ โดยโรคหืดเกิดจากการอักเสบในหลอดลม การอักเสบนี้อาจจะเกิดได้จากการสัมผัสกับสารภูมิแพ้ เช่น ขนสุนัข ขนแมว ไรฝุ่น หรือการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจากเชื้อบางชนิด หลอดลมอักเสบจะทำให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น เมื่อเจอสิ่งกระตุ้นหลอดลมจะหดตัว ทำให้คนไข้เกิดอาการไอ หายใจลำบากมีเสียงวี้ด เป็นๆ หายๆ ได้ สิ่งกระตุ้นที่ทำให้หลอดลมตีบได้แก่ สารภูมิแพ้ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ การออกกำลังกาย หัวเราะ ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ อาการที่สังเกตได้ง่ายเมื่อสงสัยว่าจะเป็นโรคหืดเมื่อมีอาการไอ หอบ หายใจมีเสียงวี้ด เป็น ๆ หาย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีอาการตอนกลางคืนหรือมีอาการไอเรื้อรังหลังจากเป็นหวัดแล้วไอไม่หาย ก็ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคหืดได้
การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคหืด ทำได้โดยการตรวจสมรรถภาพปอด ซึ่งเป็นการตรวจที่ทำได้ไม่ยากและไม่เจ็บตัว โดยการเป่าลมแรง ๆ เข้าไปในเครื่องตรวจสมรรถภาพปอด (spirometry) การตรวจสมรรถภาพปอดจะบอกได้ว่าผู้ป่วยมีหลอดลมตีบมากน้อยเพียงใด ถ้าหลอดลมตีบก็จะเป่าลมได้น้อย คนไข้โรคหืดควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอดทุกคน เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดจริงหรือไม่ ถ้าเป็นโรครุนแรงระดับไหน นอกจากนี้การตรวจสมรรถภาพปอดยังใช้ในการติดตามดูผลของการรักษาว่าดีขึ้นมากน้อยอย่างไรหลังการรักษา ผู้ป่วยสามารถตรวจวัดสมรรถภาพปอดตนเองได้ง่าย ๆ ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่าพีคโฟว์มิเตอร์ (Peak flow meter) ซึ่งจะวัดความเร็วสูงสุดที่เราเป่าลมออกมาได้ หน่วยเป็น ลิตร/ นาที ถ้าหลอดลมตีบความเร็วของลมจะน้อย ทำให้ผู้ป่วยสามารถติดตามประเมินโรคหืดตัวเองได้ที่บ้าน
การรักษาโรคหืดนั้น แต่ก่อนเราจะเข้าใจว่าโรคหืดเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ เนื่องจากเราไม่เข้าใจสาเหตุการเกิดโรค แต่ปัจจุบันเรารู้ว่าโรคหืดมีการอักเสบของหลอดลมซึ่งทำให้หลอดลมไว เวลาเจอสิ่งกระตุ้น หลอดลมถึงตีบ ดังนั้นการรักษาโรคหืดในปัจจุบันจึงเน้นไปที่การให้ยาไปลดการอักเสบของหลอดลม เมื่อหลอดลมอักเสบลดลงหลอดลมก็จะไม่ไวต่อสิ่งกระตุ้น พอเจอสิ่งกระตุ้นก็จะไม่หอบ คนไข้โรคหืดก็จะกลับมาเป็นคนปกติได้ ในอดีตเรามักจะใช้แต่ยาขยายหลอดลมเวลามีอาการจับหืดทำให้อาการดีขึ้นชั่วคราวซึ่งเป็นการรักษาอาการเท่านั้นไม่ได้รักษาการอักเสบของหลอดลม ดังนั้นโรคหืดจึงไม่ดีขึ้นและอาการมักจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาที่เป็นหืด ซึ่งโดยหลักการรักษาโรคหืดมีดังนี้
1) หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้หลอดลมอักเสบ สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลมที่สำคัญคือสารภูมิแพ้ที่สำคัญได้แก่ ไรฝุ่น ขนสัตว์ แมลงสาบ เกสรดอกไม้ เชื้อรา ดังนั้นคนไข้โรคหืดควรทำความสะอาดบ้านให้สะอาด ปราศจากฝุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องนอน
2) ใช้ยารักษา ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหืดมีทั้งยากิน ยาฉีด ยาพ่น ยาพ่นเป็นยาที่ดีเพราะเป็นยาที่ใช้เฉพาะที่ จึงได้ผลดีและปริมาณยาที่ใช้จะมีขนาดต่ำมากดังนั้นจะมีอาการข้างเคียงน้อยกว่ายากิน ดังนั้นในปัจจุบันการรักษาโรคหืดจึงนิยมใช้ยาชนิดสูดพ่นเป็นหลัก ยารักษาโรคหืดแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
2.1 ยารักษาโรค เป็นยาที่ลดการอักเสบของหลอดลมที่สำคัญได้แก่ ยาพ่นสเตียรอยด์ ยากลุ่มนี้จะเป็นยาหลักในการรักษาโรคหืดซึ่งจะต้องใช้ยาทุกวันเป็นเวลานานเพื่อจะลดการอักเสบของหลอดลม เมื่อหลอดลมอักเสบดีขึ้นหลอดลมจะไม่ไวต่อสิ่งกระตุ้นอาการหอบก็จะหายไปในที่สุด ยาพ่นสเตียรอยด์เป็นยาที่ปลอดภัย เพราะขนาดยาที่ใช้จะต่ำมาก ไม่เหมือนกับการกินยาสเตียรอยด์ซึ่งจะมีโทษมาก โทษของยาพ่นสเตียรอยด์ที่อาจจะพบได้ เช่น เสียงแหบ และมีฝ้าขาวในปากจากเชื้อรา ซึ่งป้องกันได้โดยบ้วนปากทุกครั้งหลังพ่นยา
2.2 ยาขยายหลอดลม หรือยาบรรเทาอาการ เช่น เวนโทลิน, บริคคานิล, เม็บติน ยานี้จะใช้เพื่อบรรเทาอาการเวลาหอบเท่านั้น ไม่มีส่วนในการรักษาโรค อาการข้างเคียงของยากลุ่มนี้คืออาจจะมีใจสั่น มือสั่น บ้าง
3) ติดตามการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แพทย์ประเมินความรุนแรงของโรคและปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสมและดูอาการข้างเคียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการรักษา
สำหรับผู้ป่วยโรคหืดที่มารับการรักษาช้า เมื่อมีอาการน้อย ๆ มักจะไม่มารักษาเพราะอาการน้อยจะใช้แต่ยาขยายหลอดลมบรรเทาอาการโดยไม่ได้ยาพ่นรักษา ทำให้การอักเสบของหลอดลมเป็นมากขึ้นจึงจะมาพบแพทย์เพื่อรักษา ซึ่งจะไม่ได้ผลดีเหมือนผู้ป่วยที่มารักษาแต่เนิ่น ๆ เพราะการปล่อยให้หลอดลมอักเสบอยู่เป็นเวลานานจะทำให้ผนังหลอดลมหนาตัวขึ้น ทำให้หลอดลมตีบถาวรไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมาเป็นปกติได้ หลักการรักษาโรคหืดในปัจจุบันจึงควรเริ่มรักษาให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของหลอดลม ดังนั้นเป้าหมายของการรักษาโรคหืดคือ ผู้ป่วยโรคหืดทุกคนที่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องควรจะควบคุมโรคได้ คือ ไม่มีอาการหอบ ไม่ต้องใช้ยาขยายหลอดลมเพื่อบรรเทาอาการ ไม่ต้องไปพบแพทย์ฉุกเฉินเพราะอาการหอบ มีสมรรถภาพปอดที่ปกติสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆได้เหมือนคนปกติและไม่มีอาการข้างเคียงจากการใช้ยา