นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr.Komsorn Prakobphol, Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะยังไม่มีทิศทางผ่อนคลายลง ทั้งนี้ หากพิจารณาจากดัชนีหุ้นสหรัฐฯ เป็นตัวแทนตลาดหุ้นทั่วโลก จะพบว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จนดัชนีกลับขึ้นมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่าจุดสูงสุดตลอดกาลที่ 2,945.83 จุด แค่เพียง 2% เท่านั้น โดยปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา คือ นักลงทุนมีความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะกลับมาลดดอกเบี้ยลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า
"ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ความกังวลในประเด็นสงครามการค้าปะทุขึ้นอีกครั้ง หลังการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีน ล้มเหลว และสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มอัตราภาษีกับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่อัตรา 10% เพิ่มเป็น 25% และขู่ว่าจะขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าจากจีนในรายการที่เหลือที่มีมูลค่ารวม 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกด้วย ความขัดแย้งยังขยายวงไปสู่บริษัทเอกชน หลังจากสหรัฐฯ ประกาศแบนหัวเหว่ย บริษัทคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน ความกังวลนี้ทำให้นักลงทุนพุ่งเป้าว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ" นายคมศรกล่าว
โดยนักลงทุนคาดหวังว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในระหว่างปี 2562 - 2563 แต่ TISCO ESU มองว่า Fed อาจไม่สามารถปรับลดดอกเบี้ยได้มากถึง 4 ครั้งตามที่นักลงทุนคาดหวังไว้ เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อยู่ในระดับต่ำเพียง 2.5% และอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2% ซึ่งหาก Fed ลดดอกเบี้ยลงอีกเพียง 2 ครั้ง หรือประมาณ 0.5% ก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยนโยบายลบด้วยเงินเฟ้อ) กลับไปใกล้ศูนย์หรือติดลบ ดังนั้น เชื่อว่า Fed คงจะพยายามหลีกเลี่ยงที่จะให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ หากเศรษฐกิจยังไม่มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย
นอกจากนี้ แม้ว่าในปี 2538 - 2539 Fed จะเคยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ซึ่งผลก็คือสามารถช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในปัจจุบันการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นนั้นอาจไม่ได้ส่งผลบวกเหมือนในอดีต เนื่องจากช่วงนี้เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในช่วงปลายวัฏจักร (10 ปีหลังเกิด Subprime Crisis) และอัตราการว่างงานได้ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี ดังนั้น การลดดอกเบี้ยจึงอาจไม่ส่งผลกระตุ้นอุปสงค์ได้มากนัก ประเด็นสุดท้ายคือ ในรอบนี้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ช้ากว่าปกติเป็นอย่างมาก โดย Fed ใช้เวลาถึง 3 ปีในการปรับขึ้นดอกเบี้ยจาก 0.25% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 2.5% ในปัจจุบัน แต่ในปี 2537 Fed ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 3% ภายในระยะเวลาเพียง 15 เดือน (จากระดับ 3% ณ ต้นปี 2537 เป็น 6% ในไตรมาส 1/2538)
ดังนั้น จึงคาดว่าในการประชุม Fed วันที่ 19 มิถุนายน 2562 นี้ Fed อาจไม่ได้ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยมากเท่าที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้ ประกอบกับกำไรบริษัทจดทะเบียนของหุ้นทั่วโลกในปีนี้อาจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่ส่อแววยืดเยื้อ จึงประเมินว่าโอกาสในการปรับขึ้น (Upside) ของหุ้นทั่วโลกมีค่อนข้างจำกัด และมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานมากขึ้นเรื่อยๆ