สำหรับงานประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และการแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯ จ.สุราษฎร์ธานี ประจำปี 2562 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 - 18 ตุลาคมนี้ ณ บริเวณริมเขื่อนแม่น้ำตาปี และบริเวณสะพานนริศ นับเป็นประเพณียิ่งใหญ่ และเก่าแก่ที่ปฏิบัติเป็นประเพณีกันมายาวนาน โดยงานจะจัดขึ้นในช่วงวันออกพรรษาของทุกๆ ปี ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังวันออกพรรษา รวมเป็นเวลากว่า 9 วัน 9 คืน มีการเตรียมรถ เตรียมนำเรือพนมพระ การทำพุ่มผ้าป่าของหมู่บ้าน ชุมชน ที่เรียกพุ่มผ้าป่าหน้าบ้าน จำลองฉากภาพพุทธประวัติ หรือพุทธชาดก ประดับตกแต่งอย่างประณีตสวยงามบวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
เมื่อถึงวันออกพรรษาของทุกปี จ.สุราษฎร์ธานี จะมีงานบุญที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญ ถ่ายทอดมาตั้งแต่ บรรพบุรุษ ด้วยความยึดมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนาผ่านงานบุญออกพรรษาหนึ่งเดียวในประเทศไทย คือ "งานประเพณี ชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว" สู่กิจกรรมสำคัญที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือ
การชักพุ่มผ้าป่าหน้าบ้านในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2562 มีการตั้งพุ่มผ้าป่าหน้าบ้านกว่า 2,000 พุ่ม พระสงฆ์จะชักพุ่มผ้าป่าหน้าบ้านพร้อมกันในเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ตรงกับวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2562 เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ ยังมีพุ่มเมืองซึ่งเป็นต้นโพธิ์ทองขนาดใหญ่สวยงาม เป็นสัญลักษณ์ของการจัดพุ่มผ้าป่าหน้าบ้าน และจะมีการสมโภชพุ่มเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล ณ บริเวณศาลหลักเมือง
การชักพระทางบกหรือลากพระ จะจัดขึ้นในเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งเป็นวันออกพรรษาปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2562 มีการประกวดรถพนมพระ โดยมีรถพนมพระกว่า 100 วัด เข้าร่วมงาน นั่นคือที่มาของคำว่า "ไหว้พระร้อยวัด มหัศจรรย์วันเดียว" ต่อด้วยการชักพระทางน้ำ และการแสดงแสง สี เสียง ยิ่งใหญ่ตระการตา ในคืนเดียวกัน โดยวัดที่อยู่ริมแม่น้ำจะตกแต่งเรือพนมพระ และมีการชักพระทางน้ำล่องมาตามลำน้ำตาปี เพื่อให้ประชาชนริมฝั่งแม่น้ำได้ร่วมชมและร่วมทำบุญ
สำหรับการแข่งขันเรือยาว เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 - 14 ตุลาคม 2562 ณ บริเวณริมเขื่อนแม่น้ำตาปี ชมประเพณีการแข่งเรือยาวของ จ.สุราษฎร์ธานี มรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ กีฬาพื้นบ้านที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตอันดีงาม ความผูกพันระหว่าง "สายน้ำ" กับ "ชีวิต" บนพื้นฐานของแรงศรัทธา นำมาซึ่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สู่การแข่งขันระดับประเทศ
นับเป็นประเพณีที่สืบทอดสู่ลูกหลาน ให้ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นที่สวยงามอย่างยิ่ง