สศก. ศึกษาระบบโซ่ความเย็น วางแนวทางพัฒนาระบบจัดเก็บ คงคุณภาพสินค้าเกษตรสู่ปลายทาง

อังคาร ๑๘ มิถุนายน ๒๐๑๙ ๐๙:๔๘
นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ระบบการบริหารจัดการโซ่ความเย็น (Cold Chain) ในสินค้าเกษตร เป็นระบบการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเก็บเกี่ยว การขนส่งการเก็บรักษา การกระจายสินค้า และการขายของสินค้า รวมถึงการใช้อุปกรณ์เครื่องมือ และการปฏิบัติเพื่อให้สินค้าคงความสดและมีคุณภาพ ให้ยาวนานที่สุด โดยมีเงื่อนไขที่สภาพของอุณหภูมิที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อการเก็บรักษาในแต่ละกระบวนการผลิต

ในปีงบประมาณปี 2562 สศก. ร่วมกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้ร่วมกันศึกษารูปแบบการพัฒนาระบบการบริหารจัดการโซ่ความเย็น (Cold Chain) ในสินค้าพืชผักและผลไม้ (อาทิ เงาะ ทุเรียน มังคุด ขนุน กะเพรา แตงกวา หน่อไม้ฝรั่ง และ เห็ด) ของสถาบันเกษตรกรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และพื้นที่ใกล้เคียง รวม 5 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี และตราด

จากการศึกษาพบว่า การบริหารจัดการโซ่ความเย็นที่มีประสิทธิภาพ สามารถรักษาคุณภาพและเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้เป็นอย่างดี ซึ่งกระบวนการจัดการโซ่ความเย็นที่มีประสิทธิภาพจะเริ่มจากการจัดการผลผลิตของเกษตรกร และจัดส่งมายังสถาบันเกษตรกร เพื่อจัดการส่งต่อไปยังตลาดปลายทาง ตัวอย่างเช่น การจัดการโซ่ความเย็นในสินค้าทุเรียน ของสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด จ. จันทบุรี ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลไม้เพื่อกระจายสู่ตลาด ทั้งในและต่างประเทศ แต่ละปีรวบรวมผลผลิตได้ประมาณ 5,800 ตัน โดยเป็นทุเรียนประมาณ 1,000 ตัน ซึ่งปีที่ผ่านมาสหกรณ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการไทยนิยมยั่งยืนจำนวนกว่า 29 ล้านบาท และสหกรณ์สบทบเพิ่มอีก 12 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคารห้องเย็น พร้อมอุปกรณ์แปรรูปผลไม้ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่กลางปี 2561 และเสร็จสิ้นในเดือนเมษายน 2562

กระบวนการคัดแยกผลผลิต เกษตรกรสมาชิกจะตัดทุเรียนที่ระดับความสุกร้อยละ 70 และนำส่งสหกรณ์เพื่อทำการคัดแยกเกรด โดย เกรด A และ B จะจำหน่ายเป็นผลสด ซึ่งร้อยละ 90 ส่งไปจำหน่ายที่ประเทศจีน ที่เหลือร้อยละ 10 จำหน่ายตลาดในประเทศ ได้แก่ แมคโคร และเดอะมอลล์ ในขณะที่ทุเรียนตกเกรด มีการรับซื้อจากทั่วประเทศ จะถูกนำมาเก็บที่ลานด้านหน้าห้องเย็น เป้าหมายการรับซื้อ 1,000 ตัน/ปี ปัจจุบันรับซื้อได้ 885 ตัน โดยนำทุเรียนใส่ตะกร้าเหล็กโปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี บรรจุ 300 - 350 กก./พาเลท วางซ้อนกันได้ 3 ชั้น หรือคิดเป็น 1-1.2 ตัน/ตั้ง (3 ชั้น) ช่วยให้ทุเรียนสุกได้พร้อมกัน สำหรับพื้นที่ลานด้านหน้าห้องเย็นสามารถรองรับทุเรียนสดได้ 300 - 400 ตัน โดยลานดังกล่าว มีหลังคาคลุมและมีพัดลมขนาดใหญ่ติดด้านบนเพื่อระบายอากาศ ใช้เวลาบ่มประมาณ 3 - 5 วัน เพื่อรอให้ทุเรียนมีระดับความสุกที่ร้อยละ 85 ก่อนเข้าสู่กระบวนการแกะเปลือกในห้องเย็น

กระบวนการแกะเปลือก เริ่มจากการเข็นตะกร้าทุเรียนสุกมาสู่กระบวนการผลิตแกะขั้ว ตัดเปลือกแยกเป็นพู แกะเนื้อวาง บนถาด ซึ่งถาดจะรองด้วยพลาสติกบาง และด้านล่างของถาดจะเป็นรูเพื่อช่วยถ่ายเทความเย็น เนื้อทุเรียนที่ได้คิดเป็นร้อยละ 30 ของน้ำหนักทุเรียนทั้งลูก แบ่งเป็น 4 เกรด ได้แก่ A B เนื้อดิบ และเนื้อเละ โดยเนื้อเกรด A - B จะถูกนำไปแช่แข็งที่อุณหภูมิ -35 ถึง -70 องศาเซลเซียส เก็บได้ประมาณ 1 ปี ปัจจุบันมี 250 ตันเนื้อ ซึ่งห้องเย็นสามารถรองรับได้สูงสุด 300 ตันเนื้อ หลังจากนั้นจะถูกส่งไปยังห้องเย็นของบริษัทในกรุงเทพต่อไป สำหรับเนื้อเละ จะนำไปกวนด้วยเครื่องกวน แล้วนำไปบรรจุถุงๆ ละ 5 กก. และบรรจุกล่องๆ ละ 20 กก. (4 ถุง) จำหน่ายให้บริษัท สเวนเซ่นส์ (ไทย) จำกัด

รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า สหกรณ์ที่ได้รับงบประมาณจัดสร้างห้องเย็น ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกนำผลผลิตมาขายให้กับสหกรณ์ ส่งผลให้ราคาทุเรียนปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยมา จากปีที่แล้วกิโลกรัมละ 45 - 60 บาท เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 60 - 70 บาทในปีนี้ แสดงให้เห็นว่าการที่สหกรณ์เป็นตัวกลางรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรนั้น ส่งผลต่อการรักษาเสถียรภาพราคาผลไม้ของจังหวัดจันทบุรี และยังช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณที่จะต้องนำไปใช้แทรกแซงราคาผลไม้ให้กับเกษตรกรปีละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาความสูญเสียในห้องเย็นประมาณ ร้อยละ 1 อันเนื่องมาจากฝุ่นที่มาจากเปลือก จึงต้องดูแลความสะอาดของทุเรียนก่อนเข้ากระบวนการแปรรูปให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหากระแสไฟฟ้าดับ จึงควรจัดทำระบบไฟสำรองและแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ข้อมูลการศึกษาการจัดการโซ่ความเย็นของทุเรียนของสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด จ. จันทบุรี รวมทั้งข้อมูลจากการศึกษาสหกรณ์ให้แหล่งอื่นๆ สศก. จะนำมาวิเคราะห์เชิงลึกในภาพรวมของระบบการจัดการโซ่ความเย็นของสถาบันเกษตรกร เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการพัฒนาเพื่อการบริหารจัดการโซ่ความเย็นในสินค้าพืชผักและผลไม้ของสถาบันเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพต่อไป สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลผลการศึกษา สามารถสอบถามได้ที่ ส่วนนโยบายและแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ด้านการเกษตร กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2579 3757 ในวันและเวลาราชการ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ